อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ปลุกพลัง “ผู้ก่อการดี” ขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะสู่ความสุขยั่งยืน

28

เพราะเป้าหมายมีคุณค่า Imagine Thailand Movement จึงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นสร้างสังคมสุขภาวะ ชุมชนสุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่รายล้อมเยาวชน และเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน

หลังจากขับเคลื่อนกันมาได้ระยะหนึ่ง ล่าสุดจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดเวทีให้เหล่าผู้ก่อการดีทั้ง 8 พื้นที่กว่า 50 คน ทั้ง ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ เยาวชน ผู้นำชุมชน ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ มาเติมแรงบันดาลใจกันและกัน เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาชุมชนตนเองให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะ มุ่งสู่เป้าหมายความสุขยั่งยืน

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement  กล่าวว่า จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนมีความเครียด มีความกังวล  มีปัญหาต่างๆ รุมเร้า อยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นแนวคิด เรื่องชุมชนสุขภาวะ สังคมสุขภาวะ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่า สุดท้ายแล้วการมีสุขภาวะดีเพียงแค่ตัวเองไม่พอ คนรอบข้างต้องมีสุขภาวะดีด้วย

อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ จึงได้ชักชวนผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ในพื้นที่ต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาชุมชนตนเองให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ  เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งทำงานกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็น่าจะมีโอกาสได้มาตกผลึกตนเอง  มาแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่น ๆ มาช่วยเติมกำลังใจ เติมประสบการณ์ให้กันและกัน เพราะในระหว่างทางการขับเคลื่อน คงไม่สามารถทำกันโดยลำพังได้ และเชื่อว่ากิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ทุกคน ที่จะได้รับความรู้ แรงบันดาลใจ และประสบการณ์ดีๆ นำไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป

สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ล้วนเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบในจ.นครปฐม ซึ่งได้แก่ แหล่งเรียนรู้ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ – แม่ศรีนวล  อ.ดอนตูม  ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์                อ.พุทธมณฑล ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี หอศิลป์ศาลเจ้า สวนผลไม้อินทรีย์ลุงบุญเลิศ (ป้าแจ๋ว) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรคลองมหาสวัสดิ์ และ ตลาดในสวน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน  ซึ่งแต่ละพื้นที่มีบริบท และจุดเด่นในการพัฒนาพื้นที่ที่แตกต่างกัน

โดยกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน ทั้ง ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ เยาวชน ผอ.โรงเรียน ครู ผู้ประกอบการ นักวิชาการอิสระ ผู้นำชุมชน กำนัน อบต. อสม. ฯลฯ  และอีกหลากหลายสาขาอาชีพ  อาทิ              ครูเล็ก “ภัทราวดี   มีชูธน” ศิลปินแห่งชาติและผู้ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดีหัวหิน  คุณวินัย พันธุรักษ์  ศิลปินแห่งชาติ พ่อเสริม คำแปง ศูนย์เรียนรู้เสริมทรัพย์ คุณสมศักดิ์ คำเขื่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล คุณฤทธิเดช ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย จ.น่าน คุณจิดาภา กาญจน์อร่ามกุล รองนายกเทศมนตรีตำบลเจ็ดเสมียน คุณสุรินทร์ เจริญทรง ประธานชมรมผู้สูงอายุ ชุมชนเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี คุณทวี ขำเผือก ผู้นำชุมชนบ้านท่ามะพร้าว คุณอำนวย ชูหนู ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสาน คุณสุบิน นิยมเดชา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะพร้าว คุณวาสนา   หลานเด็น  กรรมการโรงเรียนและมัสยิดบ้านท่ามะพร้าว  ตำบลคลองพน จ.กระบี่   ฯลฯ

จุดแรกไปกันที่ แหล่งเรียนรู้ลำตัดและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ – แม่ศรีนวล   ที่รวบรวมประวัติและผลงานภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของ 3 ศิลปินแห่งชาติลำตัดคณะ’หวังเต๊ะ’ (พ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล และแม่ประยูร) โดยจัดแสดงไว้ในรูปแบบ เอกสารต้นฉบับลายมือของ3 ศิลปินแห่งชาติ เทปคาสเซ็ท และวีดิทัศน์  มีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเครื่องดนตรีอย่างกลองรำมะนา เป็นต้น

ซึ่งนอกจากได้ชมพิพิธภัณฑ์แล้ว   แม่ศรีนวล และชาวคณะ ยังโชว์ลำตัดให้ชมกันสดๆอีกด้วย และอีกประเด็นสำคัญ แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ ยังมีการนำศิลปะลำตัดมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการค่ายลำตัด ปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต เพื่อลดปัญหาติดเกม และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

จากนั้นไปตามเส้นทางริมคลองมหาสวัสดิ์ เยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์เรือนมหาสวัสดี ก่อตั้ง โดย ผศ.ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง รวมถึงเรื่องราวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่มาที่ไปเหตุของอดีต ที่สามารถหยิบยกไปต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจ พัฒนาเป็นอัตลักษณ์สู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการได้ จุดนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมน่าจะได้แรงบันดาลใจกลับไปเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างภูมิใจให้กับคนในชุมชนตนเอง

อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญของชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ คือ หอศิลป์ศาลเจ้า ศูนย์รวมความ “สุนทรีย์” ของศิลปินร่วมสมัย “ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร” นักนิเวศสุนทรีย์ ผู้ก่อตั้งหอศิลป์แห่งนี้ ที่เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นหอศิลป์ เป็นพื้นที่สุขภาวะที่มีประโยชน์กับเยาวชนและชุมชนเป็นพื้นที่ที่ให้ประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์ เปิดกว้างสำหรับทุกคน

อีกทั้งไปเยี่ยมชม บ้านฟักข้าว by ขนิษฐา พินิจกุล กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าวเกษตรพัฒนา ที่นำฟักข้าวมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าในหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ สบู่ โลชั่น หมี่กรอบ คุกกี้ แยม เป็นต้น  ซึ่งนับเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน

นอกจากนี้ยังได้แวะที่ “สวนเกษตรอินทรีย์บ้านลุงบุญเลิศ (ป้าแจ๋ว)” ‘จงดี เศรษฐอำนวย’ ที่นี่นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวกรีน พานั่งเรือชมชมวิถีริมคลองมหาสวัสดิ์ ป้าแจ๋ว ยังทุ่มเทให้กับการพัฒนาชุมชนให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน หลังจากได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้นำพื้นที่สุขภาวะ ต.เจดีย์ชัย จ.น่าน   ทำให้ได้ไอเดียมาปรับใช้ เริ่มจากนำเด็กๆ ร.ร.วัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นลูกหลานชาวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ มาเข้าค่าย เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้ศิลปะเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และตระหนักรู้ถึงอันตรายของยาเสพติด อบายมุขต่างๆ   ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง จุดนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้นั่งเรื่อชมวิถีริมคลองมหาสวัสดิ์อีกด้วย

และปิดท้ายสำหรับกิจกรรม ที่ ตลาดในสวน แหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของชุมชนบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน ที่มีป้าประหยัด ปานเจริญ เจ้าของพื้นที่ เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้การทำสวนเกษตรอินทรีย์ และ เปิด “ตลาดในสวน” ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน สร้างสุขภาพดีให้กับผู้บริโภค  ขณะเดียวกัน ห่วงใยลูกหลาน    ลูกหลานที่รายล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน จึงปั้นเยาวชนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย ให้เด็กใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และออกห่างจากโซเซียลภัยมืดที่กำลังคุกคาม อันจะนำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

เรียกได้ว่า ตลอด 3 วัน อัดแน่นด้วยสาระความรู้ และประสบการณ์ล้ำค่า ที่ผู้ก่อการดีทั้ง 8พื้นที่ สามารถนำจุดดีจุดเด่นของแต่ละชุมชนไปบูรณาการกับชุมชนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้งตลาดชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ แนวคิดนิเวศน์สุนทรีย์ หรือศิลปะลำตัด ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นการขับเคลื่อนสู่พื้นที่สุขภาวะ  ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน