นับถอยหลังเทียนกง-1 ตกสู่โลก  

65

สถานีอวกาศ ‘เทียนกง-1’ ของจีน ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ๋วฉวน มณฑลกานซู มีวงโคจรห่างจากโลก 350 กม. มีขนาด 8.5 ตัน และเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน โดยสถานีอวกาศเทียนกง ได้ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทดสอบปฏิบัติการหลายอย่างในอวกาศ เพื่อเตรียมการขั้นต้นสำหรับการสร้างสถานีอวกาศของจีนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563

โดยเทียนกง 1 มีความพิเศษไม่เหมือนกับยานลำก่อนๆของจีน ซึ่งภายในตัวยานได้ติดตั้งระบบการเชื่อมต่อไว้มากมาย รวมถึงเตรียมรอรับการเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เสิ่นโจว 8 ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของจีนที่จะเชื่อมต่อยานอวกาศที่เคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร และจีนจะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจาก สหรัฐฯ และรัสเซียที่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร และมีกำหนดว่าจะควบคุมให้กลับสู่โลกลงสู่ทะเล หรือเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2559 สำนักงานอวกาศแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของจีนได้แจ้งไปยังสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ว่าจีนไม่สามารถควบคุมสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ทำให้ไม่มีใครสามารถระบุเวลาและจุดตกได้อย่างชัดเจน

การตกของวัตถุจากอวกาศที่ตกมายังพื้นผิวโลกนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการส่งดาวเทียมดวงแรกได้ “สปุตนิก” ของสหภาพโซเวียต โดยทั่วไปแล้วชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของดาวเทียมจะถูกเผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ แต่กรณีที่เป็นสถานีอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียม จะมีชิ้นส่วนบางชิ้นจะเผาไหม้ไม่หมดตกสู่พื้นผิวโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมากว่า 60 ปี ชิ้นส่วนจากอวกาศที่ตกลงมาสู่พื้นผิวโลกนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ให้ชีวิตและทรัพย์สินแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศมีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ โดยประเทศเจ้าของจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย

ร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงานติดตามสถานการณ์เทียนกง-1 ได้ร่วมกันจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยจากวัตถุอวกาศ (กรณีสถานีอวกาศเทียนกง-1) ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยหลักๆ ที่ปรากฏในแผนดังกล่าวจะเน้นไปที่ขั้นตอนการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวัง การติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่อประเทศไทยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง การเตรียมการกรณีที่ต้องมีการเผชิญเหตุ แนวทางปฏิบัติตนของประชาขน การฟื้นฟู และการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย รวมถึงการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานในพื้นที่ ระดับจังหวัด อำเภอ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน

ทางด้าน ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของจิสด้า กล่าวว่า ความสูงของสถานีอวกาศได้ลดระดับลงมาอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดการณ์ว่าจะตกในช่วงปลายเดือนมีนาคม – กลางเดือนเมษายน 2561 สำหรับแนวโน้มและผลกระทบในเชิง พื้นที่ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน แต่สามารถคาดการณ์พื้นที่จะตกสู่โลกในช่วงละติจูด 43 องศาเหนือ และละติจูด 43 องศาใต้

ทั้งนี้ จิสด้า ในฐานะหน่วยปฎิบัติภารกิจทางด้านอวกาศของไทย ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยทางจิสด้ามีโปรแกรมที่ใช้ติดตามความสูงของสถานีอวกาศ รวมไปถึงความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติเพื่อติดตามการตกของสถานีอวกาศเทียงกง-1 ในครั้งนี้ และจากการติดตามการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศเทียนกง 1 ด้วยข้อมูลจากโปรแกรม EMERALD ที่จิสด้าพัฒนาขึ้น และข้อมูลจาก China manned space พบว่าสถานีอวกาศเทียนกง 1 โคจรรอบโลกด้วยความสูงเฉลี่ย ณ วันที่ 29 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 198 กิโลเมตร โดยความสูงในแต่ระวันจะลดลงประมาณ .3-4 กิโลเมตร ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของ space surveillance network (SSN) มีการคาดการณ์ว่า สถานีอวกาศเทียนกง 1 จะตกสู่พื้นผิวโลกไม่เกินวันที่ 10 เมษายน 2561 ข้อมูลทั้งหมดนี้อัพเดทล่าสุดวันที่ 28 มีนาคม 2561 ซึ่งจะมีการแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก และหลงเหลือสู่พื้นโลกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศที่มีความร้อนสูงจนทำให้โลหะต่างๆ เกิดการระเหิดและกลายเป็นไอในที่สุด ทั้งนี้ โอกาสที่ชิ้นส่วนจะตกในพื้นที่ของประเทศไทยมีน้อยกว่าร้อยละ 0.1

ที่ผ่านมา จิสด้าได้ติดตามสถานการณ์สถานีอวกาศเทียนกง-1 อย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรอวกาศจากประเทศต่างๆ รวมถึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์เทียนกง -1 ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกายภาพและการจัดการวัตถุอันตรายเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนเผชิญเหตุและคู่มือปฏิบัติการ รวมถึงการจัดการชิ้นส่วนหรือวัตถุอันตราย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้เข้าใจและมีแนวทางในการจัดการกับชิ้นส่วนที่อาจจะตกลงมาในประเทศไทย ถึงแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะน้อยมากก็ตาม ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลล่าสุดได้ที่ เพจ facebook จับตาเทียนกง 1 ดร.สิทธิพร กล่าว.

ที่มา : งานเสวนา “นับถอยหลังเทียนกง-1 ตกสูงโลก บทสรุปจากห้วงอวกาศ” โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน)