สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่โดยภาครัฐ

55
สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยชี้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องสอดคล้องสภาพการณ์ปัจจุบัน สมาคมฯ พร้อมร่วมมือหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม
สืบเนื่องจากกระแสสังคมที่ประชาชนให้ความสนใจกับประเด็นสุราก้าวหน้าและกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยในขณะนี้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ขอตอกย้ำจุดยืนว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำเป็นจะต้องปรับให้เข้ากับบริบทของสภาพการณ์ในปัจจุบันทั้งด้านการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และสร้างเสริมให้เกิดพฤติกรรมและวัฒนธรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบผ่านความร่วมมือหาแนวทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจากภาคส่วนต่างๆ  การเสนอร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่โดยภาครัฐ นอกจากจะเพิ่มความเข้มงวดให้สุดโต่งมากขึ้นแล้ว ยังไม่สมเหตุสมผลและขัดกับบริบทสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอีกด้วย
เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า ประชาชน สื่อมวลชน และภาคส่วนต่างๆ กำลังให้ความสนใจประเด็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เวลาห้ามขาย การกำหนดโซนนิ่ง และการห้ามขายออนไลน์ แต่ในเวลาเดียวกัน ภาครัฐกลับเสนอร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ซึ่งนอกจากจะเพิกเฉยต่อประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยและวิพากย์วิจารณ์แล้ว ยังเพิ่มมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเกินควรขึ้นอีก สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากมีความสุดโต่ง สร้างผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งรวมถึง ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรมที่พัก สถานบันเทิง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี
“สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐรับฟังและพิจารณาความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน พิจารณาบริบทของการดำเนินนโยบายอย่างสมดุลและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัจจุบัน คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะสูญเสียไปหากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวถูกนำมาบังคับใช้ กฎระเบียบนโยบายควรเป็นเครื่องมือสนับสนุนความสามารถในการประกอบการและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเป็นจุดหมายในลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ส่วนการป้องกันและแก้ปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย ควรเน้นไปที่การให้ข้อมูลและการให้การศึกษา ซึ่งสมาคมฯ พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ”
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ที่เสนอโดยภาครัฐ ซึ่งนอกจากจะคงมาตราที่สังคมมีการถกเถียงไว้ดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นกำหนดเวลาห้ามขาย 14.00 – 17.00 น. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โซนนิ่ง ห้ามขายออนไลน์ มีประเด็นที่น่าจับตามองเพิ่มเติมดังนี้
• เสนอให้กำหนดเวลาห้ามบริโภคตามสถานที่ต่าง ๆ: อันเป็นการลิดรอนและละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผู้บริโภค ที่มีตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว เนื่องจากสถานที่นั้น ๆ เป็นสถานที่หรือบริเวณที่จัดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว
• เสนอให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุม หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการแสดงหมายค้นใดๆ ถือเป็นการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มากจนเกินสมควรในการเข้าไปในสถานที่ตามที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. โดยอ้างเหตุเพียง “น่าจะมีการกระทำความผิด” ซึ่งอาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ประพฤติทุจริตคอรัปชั่น
• เสนอกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าแสนบาทสำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากจนเกินไป โดยสังเกตว่าค่าปรับสูงมากและไม่ได้สัดส่วนกับข้อกล่าวหาการกระทำผิด
สำหรับประเด็นสุราก้าวหน้า ทางสมาคมฯ มองว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่สุราพื้นบ้าน และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นของไทยจะได้รับการสนับสนุนและเติบโตเช่นเดียวกับในต่างประเทศ สุราพื้นบ้านเหล่านี้เป็นมรดกและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าคงอยู่มาช้านานของชุมชน ซึ่งภาครัฐควรที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านดังกล่าวอันเป็นการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น รวมถึง สนับสนุนให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณภาพผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และพัฒนาศักยภาพการแข่งขันบนเวทีโลกของสุราไทยและสุราพื้นบ้านให้มากยิ่งขึ้น เหนืออื่นใด จะยังช่วยสร้างบรรยากาศของการแข่งขันที่เป็นธรรมซึ่งประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่ที่ผู้บริโภค
เขมิกา รัตนกุล

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ที่ลิดรอนสิทธิและเมิดเสรีภาพของประชาชนและผู้บริโภค โดยเชื่อว่า ผู้บริโภครวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างมีวิจารณญาณในการเลือกที่จะดื่มหรือไม่ดื่ม รัฐไม่มีสิทธิบังคับหรือห้ามประชาชน นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนี้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ให้อำนาจและเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่จนเกินขอบเขตผ่านการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวที่ไม่อาจยึดโยงชัดเจนได้ว่าสิ่งใดผิดหรือไม่ผิด ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น หรือเรียกรับผลประโยชน์ได้ โดยเสนอแนะว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย ควรมุ่งเน้นไปที่การให้ข้อมูลและความรู้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบ เฉกเช่นในต่างประเทศที่ดำเนินการอย่างประสบความสำเร็จ โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างเหมาะสม และเชื่อมั่นว่าภาคส่วนต่างๆ ก็พร้อมเช่นกัน

รูปภาพ