สสส. ลงนามความร่วมมือ 5มหาวิทยาลัย ตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคม หนุนตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ให้คำปรึกษา ปรับปรุงบ้าน เตรียมรับมือ “สังคมสูงวัย” หลังพบผู้สูงอายุเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 3 คน จากเหตุพลัดตกหกล้ม มีเพียงร้อยละ 24.6 ที่ปรับบ้านเหมาะสม
เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการสนับสนุนศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้แทนจากคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,สำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สปสว.) และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนโครงการเข้าร่วมงานเป็นสักขีพยานในพิธีอีกด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามสานต่อนโยบายรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคม เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาประเทศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการรสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมสำหรับ “สังคมสูงวัย” ซึ่งอีกเพียง 3 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 20% การออกแบบและปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและเอื้อต่อการใช้งานของทุกคนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตเพราะการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยพบว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของระบบบริการในผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม นอกจากนี้ จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าเกือบครึ่งของผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ใช้ส้วมแบบนั่งยอง และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2557 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า เพียงร้อยละ 24.6 ของบ้านที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัย โดยมีเพียงร้อยละ 15.2 มีการติดราวในห้องน้ำ และมีราวเกาะในห้องนอนเพียง ร้อยละ 5.8 เท่านั้น
“สสส. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เรื่องการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับที่พักอาศัยและพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ” ดร.สุปรีดากล่าว
ด้าน รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมท้องถิ่นและนวัตกรรมใหม่ๆ 2.เป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ ให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ 3.เป็นธนาคารอุปกรณ์ ที่รวบรวมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทุกคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน โดยศูนย์จุฬาฯ ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเป็นศูนย์แรก จะเปิดให้เยี่ยมชมได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ เบอร์โทร 084-554-9301 หรือ E-mail: chula.udc@gmail.com และจะเริ่มทยอยเปิดศูนย์ของภูมิภาคอื่น ๆ ในปีนี้ โดยคาดว่าจะเปิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนครบทั้ง 5 แห่ง ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562
Facebook: ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน Universal Design Center
การติดต่อ: ติดต่อในวันจันทร์ -ศุกร์ 8.30 – 17.00 น.
- ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก)
เบอร์โทรศัพท์ 084-554-9301 หรือ Email:chula.udc@gmail.com - ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ)
เบอร์โทรศัพท์ 087-557-0590 (UD), 081-951-0255 (ทั่วไป) หรือEmail:cmu.udc@gmail.com - ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน)
เบอร์โทรศัพท์ 098-696-2245 หรือ Email:thammasat.udc@gmail.com - ศูนย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
เบอร์โทรศัพท์ 098-174- 0078 หรือ Email: udc@gmail.com - ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภาคใต้)
เบอร์โทรศัพท์ 075-201-769 หรือ Email: udc@gmail.com