สวนสุขภาวะ-ห้องสมุดกำแพง เปลี่ยนกองขยะ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์

157

ในกรุงเทพมีสวนสาธารณะอยู่หลายแห่ง จะเล็กจะใหญ่แตกต่างกันไป แต่มันก็คือพื้นที่แห่งความสุข ให้คนในชุมชนได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลัง สร้างสุขภาพกายใจที่ดี แต่ที่สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลัง ม.สยาม มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ เพราะเดิมที พื้นที่แห่งนี้คือแหล่งเสื่อมโทรม ที่ถูกเปลี่ยนโฉมให้มีคุณค่าต่อคนในชุมชน

ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร มีสวนผลไม้ของชาวบ้าน แต่หลังจากการพัฒนาของสังคมเมือง ทำให้พื้นที่เสื่อมโทรมและกลายเป็นกองขยะขนาดใหญ่ จนหน่วยงานทางราชการและคนในชุมชนได้ร่วมมือกับสร้าง “สวนพื้นที่สุขภาวะ และ ห้องสมุดกำแพง” ขึ้น จากความร่วมมือของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) , มหาวิทยาลัยสยาม และภาคี เครือข่าย

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความบทบาท ความร่วมมือของ กทม. ต่อการพัฒนาสวนแห่งนี้ ว่า กทม. ได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็น “พื้นที่ชุมชนสามัคคี สร้างสุขภาวะดีเพื่อชีวิต” 1 เขต 1 ชุมชน โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านในชุมชน เป็นศูนย์กลางพบปะสังสรรค์ ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความปลอดภัย สร้างความสัมพันธ์และความเข้มแข็งให้กับชุมชน

ซึ่งรูปแบบนี้ จะให้ทุกเขตนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบท ของชุมชนนั้นๆ สำหรับสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลัง ม.สยาม เป็นตัวอย่างพื้นที่พัฒนามาจากพื้นที่รก ร้าง จนกลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของคนใน ชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนการร่วมคิด ร่วมทำ จนไปถึงร่วมใช้ประโยชน์ กทม. พร้อมที่จะเป็นกลไกในการหนุนเสริม และขับเคลื่อน ให้เกิดพื้นที่สุขภาวะ เกิดพื้นที่สีเขียว พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และ กิจกรรมทางสังคมของชุมชนต่อไป

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.มี ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจัดการให้เกิดพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายใน ชีวิตประจำวัน และยังต้องครอบคลุมสุขภาวะในมิติอื่นๆ ทั้งมิติด้านจิตใจ สังคมและปัญญา

โดยผลการดำเนินงานของ สสส. ในปีที่ผ่านมา เกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 9 รูปแบบการจัดการ เช่น พื้นที่สุขภาวะในเขต ประกอบการอุตสาหกรรม พื้นที่สุขภาวะระดับย่านเมือง และระดับชุมชน เป็นต้น และมี 2 รูปแบบ ที่สามารถ พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ คือ ศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุ และลานกีฬาพัฒน์ 1 ชุมชน เคหะคลองจั่น โดยสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลัง ม.สยาม ถือเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบชุมชน ที่มี ความยืดหยุ่น เป็นพื้นที่สุขภาวะชุมชนในเขต กทม.ที่ส่งเสริมสุขภาวะทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ 7 รูปแบบ ได้แก่ ด้านกายภาพ การมองเห็น การพูด การเข้าสังคม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้ตรรกะ และ การ ฟัง

“สวนพื้นที่สุขภาวะหลังม.สยาม มีการปรับพื้นที่และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการมี กิจกรรมทางกาย รวมทั้งยังมีมุมห้องสมุดกำแพงแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีข้อมูลสุขภาพบนกำแพงและมีหนังสือจริงให้คนในชุมชนได้ยืมไปอ่านอีกด้วย”

ขณะที่ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ม.สยาม ได้ร่วมทำงานพัฒนา พื้นที่สุขภาวะร่วมกับเขตภาษีเจริญ และชุมชนรอบข้างมาโดยตลอด ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเริ่มจากการพัฒนา พื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นรอบๆ มหาวิทยาลัย ส่งเสริมชุมชนให้เห็นความสำคัญของคำว่าพื้นที่สุขภาวะที่ชุมชนได้ ประโยชน์หากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้พื้นที่สุขภาวะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เพราะ ม.สยามเป็น มหาวิทยาลัยแห่งเดียวในเขตภาษีเจริญ จึงเหมือนเป็นความรับผิดชอบในฐานะสถานศึกษาในพื้นที่นั่นเอง

สำหรับ สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้หลัง ม.สยาม  เกิดจากแนวคิดที่อยากกลับมาพัฒนาพื้นที่หลังบ้าน ของเราเอง ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งเรียนรู้ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน  โดยหน้าที่ของ ม. สยามคือเป็นส่วนเชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง

“ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้เป็นนโยบายที่นักศึกษาจะต้องร่วมเรียนรู้การเข้าถึง และรับผิดชอบสังคม และชุมชน โดยจะเน้นให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้เป็นห้องทดลองเสมือนจริง (Living LAB)  ให้นักศึกษาทุกคณะได้ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ทุกสาขาวิชาจากชุมชน ด้วยมุ่งหวังในการสร้างนักศึกษาที่มิใช่เรียนรู้วิชา ในห้องเรียน แต่ต้องเรียนรู้ศาสตร์จากสังคม จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตในปัจจุบันได้ด้วยความรู้สึก จิตส นึกที่ต้องเกื้อกูลสังคมและคาดว่าจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ของ กทม.” อธิการบดี ม.สยาม กล่าว

ด้าน นายสัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง เจ้าของบ้านกำแพงติดกับสวนพื้นที่สุขภาวะ กล่าวว่า  ช่วงแรกที่ ศวพช. มีแนวคิดจะเริ่มเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ให้ กลายเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ เนื่องจากกองขยะใหญ่มากสูงเท่ากำแพง รวมถึง ข้อจำกัดของ คนในชุมชนที่มาจากหลากหลายอาชีพ การรวมตัวจึงน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อกระบวนการประชาคมเริ่มขึ้น กลายเป็นว่าได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนอย่างจริงจัง ทุกคนพร้อมใจสนับสนุนความร่วมมือ ทั้งลงเงิน ลง แรง ลงส่วนที่แบ่งปันได้ จนในที่สุดก็เกิดเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะ และห้องสมุดกำแพง พื้นที่สีเขียว พื้นที่สุขภาพ และ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชน