กลุ่มนักวิชาการทางศาสนา นักกิจกรรม และประชาชนผู้มีเจตนารมณ์ร่วมกัน จัดงาน WE STAND WITH PALESTINE รวมพลคนรักปาเลสไตน์ราว 500 คน ร่วมแสดงจุดยืนด้านมนุษยธรรม ดุอาร์ (ขอพร) และร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวปาเลสไตน์ ณ Trees in Town ลาดพร้าว 112
สถานการณ์ความขัดแย้งในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ยืดเยื้อยาวนานจนเข้าสู่เดือนที่ 2 สร้างผลลกระทบอย่างหนักให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเขตกาซาที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนอาหาร เวชภัณฑ์ พลังงานและที่พังพิง โดยมีสังคมโลกคอยจับตาและร่วมเรียกร้องหาสันติภาพ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่แสดงความห่วงใยโดยการส่งความช่วยเหลือผ่านสหประชาชาติ (UN) รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่เพื่อแสดงจุดยืนด้านมนุษยธรรมและการร่วมบริจาคช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มนักวิชาการทางศาสนา นักกิจกรรม และประชาชน ร่วมจัดงาน WE STAND WITH PALESTINE รวมพลคนรักปาเลสไตน์ ร่วมแสดงจุดยืนด้านมนุษยธรรม ดุอาร์ (ขอพร) และร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวปาเลสไตน์ งานจัดขึ้น ณ Trees in Town ซอยลาดพร้าว 112 มีการออกร้านและกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมงานราว 500 คน
อาจารย์อารี อารีฟ ประธานมูลนิธิอุมมะตี เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักกิจกรรมและนักวิชาการทางศาสนา ที่มีความคิดเห็นตรงกันว่า ต้องการแสดงพลังและสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ งานนี้จึงไม่มีเจ้าภาพหลัก แต่เป็นความร่วมมือจากหลาย ๆ ส่วน เช่น สนามยิงธนูและร้านกาแฟ Trees in Town ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน สมาคมต่าง ๆ รวมทั้งร้านค้าและประชาชนจิตอาสาที่ร่วมมาออกร้าน
“ในเบื้องต้นเรามีการพูดคุยกันหลายครั้งว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งแรกที่หลายท่านเห็นตรงกันคือ เมื่อพูดถึงกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ มักจะเป็นงานเชิงวิชาการเป็นหลัก เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวของปาเลสไตน์ในมิติที่มากกว่าการมานั่งฟังเรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียว และอยากให้เห็นถึงมิติของการแบ่งปันซึ่งกันและกัน มิติของกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะสื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตล์ และอีกเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องของการช่วยเหลือ เพราะหลาย ๆ คนมีใจที่อยากจะช่วยเหลือ แต่ไม่รู้ว่าจะมีช่องทางการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้เห็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น เราจะสามารถทำหน้าที่ในความเป็นมนุษย์ในการให้ความช่วยเหลือทางใดได้บ้าง หลายร้านนำอาหารมาแจก ซึ่งใครอยากบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ บางร้านนำมาขายแต่รายได้ทั้งหมดก็จะบริจาคให้งานนี้ บ้างก็มาทำกิจกรรมศิลปะกับเด็ก ๆ เป็นมิติด้านศิลปะที่ได้ช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม
สินค้าบางอย่างที่เห็นในงานอาจจะไม่ได้อยู่ในความเชี่ยวชาญของเขา แต่เขามีความรู้สึกว่า ทำอย่างไรที่จะได้แสดงหรือเกิดการรับรู้เชิงสัญลักษณ์ เขาจึงคิดทำกระเป๋าผ้ามาจำหน่ายเพื่อหารายได้ช่วยเหลือ นี่คือความหลากหลายที่เราอยากให้ทุกมาสัมผัส โดยประสบการณ์ในครั้งนี้ สามารถนำไปต่อยอดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใด ๆ ในอนาคต”
อาจารย์อารี กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ต้องการสื่อสารถึงความรู้สึกเสียใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอแสดงความเสียใจต่อคนไทยที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งคนที่ยังเป็นตัวประกัน อย่างไรก็ตามมีความเชื่อมั่นว่า วิกฤตครั้งนี้จะมีทางออกที่ดี ในการได้ช่วยเหลือทั้งผู้บาดเจ็บหรือตัวประกันที่ถูกจับกุม
“สิ่งนี้คือสัญญานที่บอกว่าโลกควรให้ความสนใจต่อวิกฤตมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้น โดยหวังให้โลกและนานาชาติได้หันมามองมากขึ้น ให้เราได้ใช้กลไกทางด้านรัฐศาสตร์ ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านมนุษยธรรม เข้ามามองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และร่วมแก้ปัญหานี้ด้วยกัน
ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ บทบาทของประเทศไทยในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันในเรื่องของการเห็นด้วยกับมติสหประชาชาติในการหยุดยิง เห็นด้วยที่จะให้มีการเจรจาระหว่างกัน เห็นด้วยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จุดยืนแห่งมนุษยธรรมของประเทศไทย จะส่งผลดีต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีปาเลสไตน์ หรือเหตุการณ์พิพาทในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก” อาจารย์อารี กล่าว
ด้านอาจารย์รุ่งโรจน์ ฉิมวิเศษ ผู้ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ คือการแสดงจุดยืนด้านมนุษยธรรม เจ้าภาพของงานคือประชาชนที่เข้ามาช่วยกันส่งต่อความช่วยเหลือยังชาวปาเลสไตน์ที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นยาหรือเวชภัณฑ์ เท่าที่จะช่วยเหลือได้ตามกำลัง โดยจะเป็นไปในแนวทางของสันติภาพและสุขภาพเท่านั้น
“สงครามไม่ยุติธรรมสำหรับใคร และสถานการณ์นี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องสลับซับซ้อน เรารู้สึกเห็นใจทั้งหมด เพราะขึ้นชื่อว่าสงครามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็สูญเสีย และทุกครั้งที่เกิดกรณีในหลายประเทศ คนที่ต้องสูญเสียคือประชาชนทั้งสองฝ่าย สิ่งที่น่าปวดร้าวมากในตอนนี้คือการตัดน้ำตัดไฟ ประชาชนชาวปาเลสไตน์ไม่มีน้ำ ไฟ และอาหาร เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งพี่น้องชาวไทยที่ยังไม่ได้กลับบ้าน”
ร่วมแสดงพลังต่อต้านวิกฤตด้านมนุษยธรรม พร้อมส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยชาวปาเลสไตน์ผ่านช่องทางที่ท่านสะดวก หรือ ร่วมบริจาคผ่านทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เลขที่บัญชี 0011 1863 48 ชื่อบัญชี มูลนิธิอุมมะตี (Ummatee)