บางกอก คุนสตาเล่อ พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแห่งใหม่ในย่านเยาวราช ที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ก่อตั้งโดย มาริษา เจียรวนนท์ ในปี 2567 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดนิทรรศการ เสวนา และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวนิทรรศการแรกแห่งปี “Nine Plus Five Works” ผลงานของมิเชล โอแดร์ ศิลปิน นักสร้างภาพยนตร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานเชิงทดลอง และวิดีโออาร์ตตั้งแต่ยุค 60 เป็นต้นมา
สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา ภัณฑารักษ์ นิทรรศการ “Nine Plus Five Works” เปิดเผยว่า โอแดร์ เป็นศิลปินที่มีความโดดเด่นในด้านการสังเกตเชิงจินตภาพ ผลงานภาพยนตร์ของเขาสามารถเรียกได้ว่า เป็นทั้งการสะท้อนภาพที่เสมือนจริงและมีไวยากรณ์ที่ลึกซึ้งราวกับบทกวีได้เช่นกัน โอแดร์มีชื่อเสียงจากงานเชิงทดลองที่ไม่บอกเล่าเรียงตามลำดับเวลา รวมถึงผลงานภาพยนตร์ที่ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวตามขนบทั่วไป ผลงานของเขามักจะเป็นการทำงานระหว่างความเป็นศิลปะ สารคดี และเรื่องราวส่วนตัว ราวกับเป็นการเขียนไดอารี่หรือบันทึกความฝัน การที่เขาพกกล้องวิดีโอแบบพกพาทำให้เขามีโอกาสได้เก็บบันทึกภาพชีวิตส่วนตัวของเขาได้อย่างใกล้ชิด ถือเป็นการแหกขนบธรรมเนียมการเล่าเรื่องในวิดีโออาร์ตและภาพยนตร์แห่งยุคสมัย
ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา โอแดร์ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านภาพวิดีโอจากฟิล์มเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างประเด็นส่วนบุคคล และประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต่างสัมผัสร่วมกัน พาให้ผู้ชมได้มองเห็นโลกจากมุมมองของเขา และแบ่งปันประสบการณ์ตั้งแต่เรื่องธรรมดาทั่วไปจนถึงเรื่องราวที่พิเศษสุด ทำให้เขาเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปของ ‘เวลา และ ความทรงจำ’ ระหว่าง ‘ความจริง และ เรื่องที่แต่งขึ้น’ ‘การสัมผัส และ การนำเสนอ’ และในประการสุดท้ายคือ ‘เรื่องส่วนตัวที่ใกล้ชิด และ การเปิดเผยมันออกมา’
ผลงานของโอแดร์ที่นำมาจัดแสดงในบางกอก คุนสตาเล่อ จัดแบ่งรูปแบบการนำเสนอออกเป็น 2 ประเด็น โดยกลุ่มแรกประกอบด้วยผลงาน 5 ชิ้น ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติด้วยการสร้างสรรค์อันซับซ้อน และอีก 9 ผลงานบอกเล่าพัฒนาการของโอแดร์ ผ่านการผสมผสานผลงานในประเภทต่าง ๆ ผลงานกลุ่มที่จะเป็นการรวบรวมบันทึกเหตุการณ์ การเดินทาง ไดอารี่ วีดีโอพอร์เทรต รวมถึงวีดีโอเชิงทดลอง ที่โอแดร์ถ่ายทอดได้ลุ่มลึกราวกับบทกลอน และคอลเล็กชันผลงานส่วนตัวที่โอแดร์ใช้เทคนิคการตัดต่อ การถ่าย และการบอกเล่าอย่างหลากหลาย
ความพิเศษของนิทรรศการในครั้งนี้คือ โอแดร์ได้ถ่ายทอดท่วงทำนองแห่งกรุงเทพฯ ผ่าน ‘Flowers of Thailand’ (2023) เป็นการสร้างผลงานศิลปะขณะที่เป็นศิลปินในพำนักซึ่งสนับสนุนโดยบางกอก คุนสตาเล่อ ผลงานศิลปะที่จัดวางบนสองจอภาพ ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับการเขียนจดหมายที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างรูปร่างและสีสัน และ ‘Yaowarat’ (2023) พรรณาภาพชีวิตประจำวันบนท้องถนนของกรุงเทพฯ การเคลื่อนไหวที่ลื่นไหล สอดคล้อง แต่ไม่ได้นัดหมายของผู้คนและสินค้า
งานของมิเชล โอแดร์ ถูกนำไปจัดแสดงในหลากหลายพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ทั่วโลก นอกจากนี้ ผลงานของเขายังจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของรัฐในฐานะสมบัติของชาติหลายแห่ง ทั้ง Centre Georges Pompidou (ปารีส, ฝรั่งเศส), FRAC Provence-Alpes-Côtes d’Azur (มาร์เซย, ฝรั่งเศส), Kadist Art Foundation (ปารีส, ฝรั่งเศส) และ Muhka (แอนต์เวิร์ป, เยอรมนี), ICA (ไมอามี, สหรัฐอเมริกา) และอื่น ๆ อีกมากมาย
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการ “Nine Plus Five Works” ของมิเชล โอแดร์ ได้ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บางกอก คุนสตาเล่อ 599 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบ กรุงเทพฯ เปิดตั้งแต่เวลา 12.00 – 20.00 น.