TCELS ร่วมลงพื้นที่ “ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2” ชูอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ หนุนการพัฒนาที่สมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเสริมศักยภาพนวัตกรรมสมุนไพรทั้งระบบ เร่งต่อยอดสารสกัดมูลค่าสูงที่ปลูกได้บนพื้นที่สูง เพิ่มจำนวนยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร กระจายรายได้สู่ฐานราก ยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดสากล ก้าวสู่ Hub of Herbs ส่งภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
จากการประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา น่าน) ที่ผ่านมา ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่ดังกล่าว และร่วมติดตามผลการดำเนินงาน “การฟื้นฟูและพัฒนากว๊านพะเยา โดยท้องถิ่นและชุมชน” เพื่อการจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นความยั่งยืนของทรัพยากร สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยการสร้างรายได้เกษตรกรจากสมุนไพรในป่าต้นน้ำ โดยมีตัวแทนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมลงพื้นที่เพื่อสนับสนับสนุนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากพืชสมุนไพร
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS หน่วยงานในการกำกับดูแลของกระทรวง อว. มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์
รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ด้วยการผลักดันนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์และสังคม ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
บทบาทของ TCELS ในการขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย มุ่งเน้นการพัฒนาสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง คือ สมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางยา รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาจากสมุนไพร โดยได้ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้และเงินทุนในการยกระดับสารสกัดสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับพันธมิตร
รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งในประเทศและระดับสากล
โดยมีเป้าหมายเพิ่มยอดขายของสารสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี เพื่อนำพาประเทศให้เป็น Hub of Herbs ก้าวสู่ TOP 10 ในตลาดสากล ขานรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือ “ประเทศไทยเป็นผู้นําในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐาน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน”
สำหรับการประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ครม. พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง ผู้แทน TCELS ได้รายงานภารกิจสำคัญของ TCELS ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสารสำคัญของสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดสากล
โดยมุ่งเน้นการสนับสนุน ยกระดับทั้ง Value Chain ของผู้ผลิตสมุนไพรไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีความเข้มแข็งในแต่ละช่วงของ Value Chain โดยมีเป้าหมายเริ่มต้นที่การพัฒนาสารสกัดมูลค่าสูงที่สามารถปลูกได้บนพื้นที่สูง เช่น น่าน พะเยา เป็นต้น
นอกจากนี้ TCELS ยังสนับสนุนงบประมาณในการต่อยอดนวัตกรรมยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และเวชสำอางให้มีมาตรฐาน เพื่อผลักดันนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์และเข้าสู่ตลาดสากล ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงระดับนานาชาติ
อีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือของ TCELS กับหน่วยงานพันธมิตร คือ การผนึกกำลังกับมูลนิธิกสิกรไทย ในแผนงานโครงการ “คืนป่า-ทำยาจากพืช” ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) มีเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาจากสมุนไพร พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้มีมาตรฐานและแข่งขันได้ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น 200,000 บาทต่อปี มีโรงงานสารสกัดจากพืช 1 แห่ง สามารถผลิตยาจากพืชขึ้นทะเบียนและพร้อมจำหน่าย 1 รายการ รวมทั้งมีสารสกัดจากพืชเพื่อทำยาและสามารถจำหน่ายได้ 3 รายการ
รูปแบบความร่วมมือในโครงการ “คืนป่า-ทำยาจากพืช” จะดำเนินการเสาะหานักวิจัยและข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีศักยภาพ โดย TCELS จะทำการคัดเลือกโครงการวิจัยที่มีศักยภาพในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม พร้อมผลักดันงานวิจัยที่มีศักยภาพครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยาสมุนไพร
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด ถือเป็นประเทศที่มีต้นทุนด้านวัตถุดิบสูงมาก โดยสมุนไพรถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาจากสมุนไพร ดังนั้นภาพรวมสมุนไพรจึงเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง
โดยองค์กร Globe Newswire ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมุนไพรโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 550 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2573 ร้อยละ 18.9 ส่วนมูลค่าการส่งออกในปี 2564 อันดับ 1 คือ จีน ตามมาด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยเป็นอันดับที่ 4 มีมูลค่าส่งออก 1,483.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนสถานการณ์ โควิด-19 มีการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดสมุนไพรทั่วโลกจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่สถานภาพของอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ เนื่องจากยังมีโรงงานสกัดที่มีคุณภาพและมาตรฐานอยู่เป็นจำนวนน้อย ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกสมุนไพรให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด
การผลักดันศักยภาพของสมุนไพรไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในผลิตและจำหน่ายสมุนไพรไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระจายรายได้ไปถึงกลุ่มเกษตรกรฐานราก พร้อมประโยชน์ในการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่สร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้ประเทศไทยต่อไป
TCELS มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER” ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th Facebook: TCELS THAILAND