วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Metadata Management System / Data Catalog (Tools: CKAN)” เพื่อ Upskill ให้นักศึกษาในโครงการบริการวิชาการของหลักสูตรวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ ให้มีความรู้ด้านการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเปิดรับสมัครให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมอบรมฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ดร.ธนภัทร ฆังคะจิตร ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering) วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ CITE DPU ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Metadata Management System / Data Catalog (Tools : CKAN)” ได้รับเกียรติจาก คุณกัญญาวีร์ พรสว่างดี วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก BDI (Big Data Institute) มาร่วมบรรยายพิเศษ
โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering) พร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมอบรมด้วย สำหรับการจัดอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้รับความรู้และมีทักษะในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้แก่บุคคลภายนอกได้รับทราบ
ดร.ธนภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรการอบรมนี้ เกี่ยวกับกระบวนการสร้าง Data Catalog เพื่อใช้จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ภายในองค์กรอย่างมีระบบ โดยใช้เครื่องมือ CKAN (Comprehensive Knowledge Archive Network) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งตามความต้องการและลักษณะการทำงานที่หลากหลายขององค์กร รวมถึงมีระบบจัดการเมทาดาตา (Metadata Management System) ซึ่งช่วยให้สะดวกในการค้นหาและเรียกใช้ข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ในการอบรมนี้ ผู้เข้าร่วมได้ทดลองปฏิบัติใช้งานจริง ตั้งแต่การติดตั้งเครื่องมือ CKAN, การนำเข้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆมาจัดเก็บลงในคลังข้อมูลกลาง, การสร้าง Data Catalog, การกำหนดสิทธิผู้ใช้งานในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลภายในองค์กร รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลแบบอัตโนมัติผ่านทาง API (Application Programming Interfaces) ซึ่งช่วยให้ทำงานได้เป็นระบบและเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น CKAN จึงถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานที่มีปริมาณข้อมูลจำนวนมากและมีความจำเป็นที่ต้องจัดการข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ
“ในอดีตที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่ใช้วิธีการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลด้วยตารางคำนวณหรือโปรแกรม เช่น Microsoft Excel ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดพื้นที่จัดเก็บ ประสิทธิภาพการประมวลผล และมาตรการรักษาความปลอดภัย ดังนั้นการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยและเหมาะสมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีระบบ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”ดร.ธนภัทร กล่าว
ดร.ธนภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการเปิดอบรมคอร์สระยะสั้นที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้เข้าอบรมภายนอกเป็นจำนวนมาก ทำให้ CITE DPU ตระหนักถึงความต้องการของผู้เข้าอบรมที่ต้องการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้จริงภายในองค์กร รวมถึงบางท่านมีความสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้ CITE DPU จึงได้ดำเนินการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยและสอดรับกับความต้องการของผู้เรียนและการทำงานจริงมากยิ่งขึ้น โดยเปิดรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาจากพื้นฐานการศึกษาสาขาอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสายวิศกรข้อมูลหรือสายงานที่เกี่ยวข้องกับทางคอมพิวเตอร์โดยตรง
อาทิเช่น นักการตลาด แพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการการเกษตรฯ บุคลากรสายการเงินและการลงทุน บุคลากรทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และแผนที่ เป็นต้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเปลี่ยนไปสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือวิศวกรข้อมูลได้ หรือ ยังคงทำงานในสายอาชีพเดิมแต่นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ตนเองมีความรู้และมีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพในการทำงานของตนเองให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ CITE DPU ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการสอนการวิจัยด้านข้อมูลขนาดใหญ่กว่า 10 ปี มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูง จึงมีความมุ่งหวังในการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงการฝึกปฏิบัติให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้จริงหลังจบการศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม