เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เปิดปรากฎการณ์สุดสร้างสรรค์ กับนิทรรศการกลางแจ้ง (Mini Exhibition) บน Skywalk บีทีเอส ช่องนนทรี เพื่อพัฒนาถนนสาทรให้เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ โดยจำลองสภาพการจราจรบนถนนสาทรที่มีจุดเสี่ยงหลายแห่ง และจำลองรูปแบบการปรับปรุงทางข้ามที่ปลอดภัย พร้อมเล่าเรื่องราวการขับเคลื่อนภายใต้แคมเปญ “ระวังหมดอายุ”
อีกทั้งจัดบูธกลางแจ้งสุดฮิบ!!! ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น และให้ไอเดียได้ด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่การวางแนวทาง เพื่อพัฒนาสภาพการจราจร ทางแยก และทางข้ามต่างๆ ของถนนสาทรให้มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกำหนดทิศทางและรูปแบบกิจกรรมที่จะทำในอนาคต เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป
ดร. อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม กล่าวในโอกาสเปิดนิทรรศการกลางแจ้ง (Mini Exhibition) “เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” ว่า ตลอดการขับเคลื่อน โครงการพัฒนากลไกทางสังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ”เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทางเครือข่ายฯ มีการทำงานเชิงรุกกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาถนนสาทรให้เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
เชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ใช้ถนนสาทร มาร่วมชี้จุดเสี่ยง ชวนลงพื้นที่ร่วมกันศึกษาและออกแบบทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังมีการทำป้ายรณรงค์เตือน 4 ระวัง ตลอดถนนสาทร เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ประกอบด้วย ระวังทางแยก ระวังความเร็ว ระวังทางข้าม เพราะหลายจุดยังมีจุดเสี่ยง และระวังน็อก ด้วยการใส่หมวกกันน็อกทุกครั้งเมื่อซ้อนท้ายหรือขี่รถจักรยานยนต์
“นอกจากนี้ เรายังได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น ไทยฮอนด้า และกองบังคับการตำรวจจราจร เข้าไปทำกิจกรรมอบรมให้ความรู้ 7 โรงเรียนในสังกัดกทม. เขตบางรัก-สาทร ให้มีพื้นฐานการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และมีทักษะการข้ามทางม้าลาย ดังนั้นเพื่อต่อยอดและขยายผล และเปิดรับไอเดียใหม่ๆ จึงได้มีการจัดนิทรรศการ เล่าเส้นทางการขับเคลื่อน รวมถึงนำเสนอไอเดียทางข้ามที่ปลอดภัยมากขึ้น และเปิดให้ทุกคนที่ใช้ถนนสาทร มาร่วมให้ไอเดีย แก้ไข เพื่อพัฒนาถนนสาทรให้เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุสำหรับทุกคน รวมถึงให้ไอเดียทำกิจกรรมเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ให้ได้ผล และนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต”
นิทรรศการ “เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” เป็นนิทรรศการกลางแจ้ง จุดเด่นคือมีความทันสมัย สร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทุกคนสามารถเดินชมงานได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ที่จะเห็นเรื่องราวการขับเคลื่อน สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสาทร จำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ รวมถึงกิจกรรมที่ผ่านมา และจากนิทรรศการรวมถึงหากมองลงไปที่ถนนสาทร ทุกคนจะสามารถสังเกตุเห็นรูปแบบถนนสาทรที่มีสองฝั่ง มีจุดเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง สัญจร รวมถึงการเดินทางของผู้พิการ ที่ทางเท้า ทางข้าม หลายจุดไม่ได้ออกแบบทางลาดไว้
และที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการจัดแสดงครั้งนี้คือ การจำลองตัวอย่างทางข้ามที่ปลอดภัย (บริเวณอาคารโคนอส) ที่ได้มีการลงพื้นที่ ศึกษา และกำลังอยู่ในระหว่างนำเสนอให้กรุงเทพมหานคร สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุง เช่น ให้ตีเส้นหยักชะลอความเร็ว ลดขนาดทางกลับรถ เพิ่มพื้นที่จุดหยุดรอข้ามกลางถนน และมีทางลาด เพื่อให้ทุกคน รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการข้ามได้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่ร่มเงาให้คนข้ามถนนหลบแดดหลบฝนได้ระหว่างรอข้าม
ในวันเปิดนิทรรศการมีผู้ก่อการดีที่ร่วมขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน มาร่วมชมนิทรรศการกันอย่างคับคั่ง พร้อมร่วมเสวนาพูดคุย เพื่อพัฒนาถนนสาทรให้ปลอดภัยมากขึ้น อาทิ ธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักงานการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พ.ต.อ.สรพงษ์ นาคะโยคี ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจจราจร กนิษฐา ไทยเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางรัก พ.ต.อ.จินดา กลับกลาย ศูนย์บริหารงานจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรีชา กลิ่นแก้ว สโมสรโรตารี่พระนคร ผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครู สังกัด กทม. ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินนักนิเวศสุนทรีย์ ผู้บริหารศูนย์ขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า บริษัทไทยฮอนด้า จำกัด บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และผู้ก่อการดีร่วมขับเคลื่อน ฯลฯ
ขณะที่ประชาชนที่ใช้ Skywalk ต่างให้ความสนใจ และร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก รวมถึงชาวต่างชาติ ที่อยากเห็นถนนเมืองไทยปลอดภัยมากขึ้น
หนึ่งในไฮไลต์ในวันเปิดงาน ในวันที่ 3 กรกฎาคม คือ กิจกรรมสถานีความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Station) ที่มีจุดเด่น หุ่นผึ้งน้อยเป็นหูเป็นตา สัญลักษณ์ของโครงการฯ ซึ่งเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม เขียนป้ายเตือนใจ สื่อสารถึงคนที่เรารักและรักเรา ให้ใช้ถนนอย่างระวังและมีความปลอดภัย จากนั้นแขวนป้าย และสั่นกระดิ่ง ตัวอย่างข้อความ เช่น ไม่ขับรถเร็วเกินไป ขอให้ใส่หมวกกันน็อก “หยุด/ไม่ประมาท ดู/ให้ปลอดภัย ไป/อย่างมีสติ” ”ถนนปลอดเหตุ ชีวิตปลอดภัย พวกเราชาวไทย ปลอดภัยทุกคน” และ”รักษากฎจราจร ปลอดภัยต่อตัวเองและคนอื่น”
“อยากให้ผู้สนใจมาเรียนรู้จากสิ่งที่พวกเราได้ทดลองทำไปแล้ว และมาแบ่งปันกัน เพื่อขยายแนวคิดเรื่องนี้ออกไปในสังคมวงกว้าง เพื่อให้เรื่องความปลอดภัย รวมถึงความปลอดภัยทางถนนอยู่ในจิตใจของทุกๆ คน ทุกๆ เวลาที่ออกไปใช้ท้องถนนร่วมกัน นอกจากนี้ก็อยากชวนให้ทุกคนมาร่วมกันเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ช่วยกันสะกิดเตือนคนที่เรารัก คนที่รักเรา เพื่อจะส่งทุกๆคนให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยในทุกๆวัน เพื่อตัวเราเอง เพื่อคนที่รักเรา และเพื่อคนที่เรารัก” ดร.อุดมกล่าว นิทรรศการกลางแจ้ง (Mini Exhibition) เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม บน Skywalk บีทีเอส ช่องนนทรี ซึ่งมีการทำ มาสคอต การ์ตูนรูปผึ้งขนาดใหญ่ เป็นสัญญลักษณ์เพื่อสร้างการจดจำ จะมีการจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ผู้สนใจสามารถแวะไปชม และให้ไอเดียได้ตลอดวัน เพื่อร่วมกันทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยทุกคนสามารถเข้าไปดูข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ได้ ที่Facebook : เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม และ Facebook : Imagine Thailand Movement หรือพิมพ์ #เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม