คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว.เชื่อมสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย จัดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

20
ละครรำชวาเรื่องอิเหนา

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดโอกาสจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานวัฒนธรรมไทยและอินโดนีเซีย เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมและนำเสนอมิติทางการศึกษาสู่การพัฒนาผ่านศิลปวัฒนธรรมให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปกรรมให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสากล

โครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการ: ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับคณาจารย์และนิสิตในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์สร้างสรรค์และการจัดการ และหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา ด้วยความร่วมมือจาก Faculty of Performing Arts, Indonesia Institute of the Arts, Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนวิชาการในระดับนานาชาติให้กับคณะ นำไปสู่การพัฒนาความรู้ข้ามวัฒนธรรมและการให้ความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมสังคมสันติสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการทางดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซียที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นการจัดงานและเปลี่ยนประหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประเทศอินโดนีเซียที่เป็นมิตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาช้านาน ยังทำให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ผ่านดนตรีและนาฏศิลป์ที่ทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจากอินโดนีเซีย และยังถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เหล่าคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากอินโดนีเซียสามารถนำประสบการณ์ที่ดีตลอดการอบรมในโครงการกลับไปเผยแพร่ได้ต่อไป”

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการ: ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย ทั้งคณาจารย์ นิสิต และบุคคลภายนอก จะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของอินโดนีเซีย ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างดนตรีกาเมลันชวา (Javanese Gamelan) ซึ่งเป็นดนตรีท้องถิ่นของคนชวาในประเทศอินโดนีเซียที่เป็นวงดนตรีที่รวมเครื่องดนตรีหลายชนิดเข้าไว้ด้วยกัน

ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทตีชนิดต่างๆ เช่น กลอง (Kendang) ฆ้องโลหะประเภทต่างๆ ประกอบด้วยโบนัง (Bonang), เกอน็อง (Kenong), เกิมปุล (Kempul) และ ก็อง (Gong) ยังมีเครื่องสาย เช่น เรอบับ (Rebab) ที่มีลักษณะคล้ายซอสามสายของไทย เครื่องเป่าประเภทขลุ่ย เรียกว่า ซูลิง (Suling) โดยดนตรีกาเมลันมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมและพิธีกรรมของชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะกลุ่มคนชวา (Javanese) และคนซุนดา (Sundanese) ในเกาะชวา (Java) และคนบาหลีในเกาะบาหลี (Bali) มักใช้ในการแสดงละครท้องถิ่น งานแต่งงาน การแสดงหุ่นเงา หรือ วายังกุลิต (Wayang Kulit)

นอกจากนี้ดนตรีกาเมลันยังมีลักษณะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสร้างความรู้สึกที่มีมนต์ขลัง ดนตรีกาเมลันยังถือเป็นศิลปะที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ซึ่งต้องประสานเสียงกันอย่างลงตัวเพื่อสร้างบทเพลงที่สมบูรณ์และงดงาม รวมถึงนาฏศิลป์อินโดนีเซีย อย่างการแสดงชุด โกเละก์ เกินโย ตีเนิมเบ (Golek Kenya Tinembe) บรรเลงประกอบด้วยเพลง ลา ดรัง อัสโมโรโดโน (Ladrang Asmaradana) เป็นการแสดงรำแบบขนบของราชสำนักยอกยาการ์ตา กล่าวถึงสตรีชวาที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะต้องศึกษาเล่าเรียน ดูแลตัวเอง และมีวัตรปฏิบัติดีงามสมเป็นกุลสตรีชวา และการบรรเลงดนตรีกาเมลันชวาเพลงกังซาราน โรโร มิงก๊ะห์ ลันจารัน มายาร์ เซวู (Gangsaran 2 minggah Lancaran Manyar Sewu, laras pelog pathet barang) บทเพลงของราขสำนักชวา นครยอกยาการ์ตา ที่มีอัตราจังหวะต่อเนื่องกันสองอัตราจังหวะ แสดงฝีมือการบรรเลงของนักดนตรีที่สร้างเพลงที่คล้ายนกยูงทั้งพันตัวขึ้นบินระยิบระยับท้องฟ้า

ระบำฆ้องใหม่

ต่อด้วย ละครรำชวา เรื่องอิเหนา ตอน Klana Sewandana Lena ที่กล่าวถึงความรักของจรกาที่มีต่อบุษบาจนทำให้เกิดเป็นสงครามขึ้นถ่ายทอดให้เข้าใจและเข้าถึงวัฒนธรรมผ่านการแสดงออกในรูปแบบดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์ที่หาชมได้ยาก แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสารถึงวัฒนธรรมประจำชาติผ่านท่วงทำนองและลีลาท่าทางที่สวยงามอ่อนช้อยรวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเครื่องประดับที่ออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง

และการแสดงเปิดงานชุดระบำฆ้องใหม่ โดยนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สื่อความหมายถึงการมีเสียงฆ้องใหม่ในดินแดนสยาม นำนาฏยลักษณ์อันงดงามตามแบบนาฏศิลป์ชวาและนาฏศิลป์ไทยมาผสมผสานกัน โดยยังคงลักษณะเด่นของนาฏศิลป์ชวา คือ การร่ายรำโดยใช้ผ้าผูกเอว หรือ ซัมปูร์ (sampur) แสดงลีลาท่ารำของสตรี ในโอกาสการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีการมีเสียงฆ้องใหม่ในดินแดนสยาม ตลอดจนแสดงความเคารพบูชาเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดอำนวยพรมงคล ด้วยลีลาท่ารำอันอ่อนช้อยผสมกลมกลืนอย่างสง่างามแสดงถึงจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์

คณะนักแสดงและนักดนตรีจากประเทศอินโดนีเซียยังได้เดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรมไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนรู้ความภาคภูมิใจของคนไทยผ่านประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณสถาน ตลอดจนวิถีชีวิตคนไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักอีกด้วย

การแสดงรำแบบขนบของราชสำนักยอกยาการ์ตา

กล่าวได้ว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะและความรู้ความเข้าใจในด้านศิลปะดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์ที่ลึกซึ้งขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อว่าโครงการนี้จะไม่เพียงแค่เพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับนักศึกษาและคณาจารย์เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในด้านศิลปกรรมและศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนตลอดจนช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียต่อไป

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการ: ดนตรีและนาฏศิลป์อินโดนีเซีย ที่จัดโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ นับเป็นการเปิดประตูสู่วัฒนธรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีค่าต่อทั้งสองประเทศอย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในอนาคตต่อไป