เมื่อได้ยินมาว่าการทำงานทำให้สุขภาพของคนเราแย่ลงแล้วเกิดสงสัยว่า ไม่ให้ทำงานแล้วจะดำรงชีวิตต่อไปอย่างไร แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า การทำงานที่ทำให้สุขภาพของเราแย่ลงนั้น มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในการทำงานของเราเองต่างหาก จึงมีแนวคิดที่ว่า อย่ามุ่งทำงานสร้างฐานะ เพื่อตอนท้ายต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล จึงเริ่มดูแลสุขภาพกายใจในช่วงเวลาทำงานกันตั้งแต่วันนี้
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่บริเวณโถงกลางชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมด้วย ทีมผู้บริหารจาก สสส. กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ได้เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม รณรงค์ Happy Workplace องค์กรแห่งความสุข : ท่าบริหารร่างกายสไตล์ไทย เพื่อสุขภาพพี่น้องแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ จัดโดย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยในงานนี้ เราได้ทราบข้อมูลสุขภาพของคนทำงานที่น่าสนใจ โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่อง สถานการณ์ของประชากรวัยทำงานทั่วโลก พบว่า ปัญหาจากการทำงานมีผลทำให้มีภาวะสุขภาพแย่ลงและเกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น
สอดคล้องกับผลสํารวจของมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง สุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 พบว่า ประชากรวัยทำงาน มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเพศหญิง ร้อยละ 55 และเพศชาย ร้อยละ 42 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 25 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ในเพศหญิง ร้อยละ 20 และเพศชายร้อยละ 19 เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 9 รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และศักยภาพการผลิตที่ลดลงจากค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ขาด/ลางาน และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สสส. โดยแผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร จึงเกิดการบูรณาการหลักการ Happy Workplace มากว่า 10 ปี พัฒนาเครื่องมือที่ต่อยอดองค์ความรู้ อาทิ ความสุข 8 ประการ (Happy 8) คู่มือวัดความสุข (Happinometer) ดัชนีสุขภาวะองค์กร (MapHR) เครื่องมือประเมินตัวเองและวัดผลการพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดความสุขใน 10 มิติ (Workplace Index) มุ่งหวังให้แรงงานไทยที่มี 37.79 ล้านคน ทำงานมีความสุข จนเกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร ร้อยละ 100 ทุ่มเทในการทำงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 95.9 พนักงานลาออกลดลง ร้อยละ 91.9 ค่าเฉลี่ยความสุขเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 59.84 เป็นร้อยละ 62 ในทุกมิติ วัดโดยเครื่องมือวัดความสุข Happinometer คิดเป็นมูลค่าผลลัพธ์และผลตอบแทนเท่ากับ 240,566,681.93 บาท
ล่าสุด สสส. กระทรวงแรงงาน และ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพัฒนา 12 ท่าบริหารร่างกายสไตล์ไทยประกอบเพลงเพื่อให้วัยทำงานได้บริหารร่างกายก่อนปฏิบัติงาน หรือระหว่างวัน เพื่อเตรียมร่างกาย และจิตใจให้พร้อมที่จะทำงาน ลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลดีต่อร่างกาย อาทิ กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและสมอง ช่วยให้ปอดและหัวใจแข็งแรงขึ้น โดยออกแบบให้ทำได้ทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ
- ท่าบริหารร่างกาย เพื่อความตื่นตัวและความพร้อมของร่างกาย 7 ท่า ความยาว 3 นาที
- ท่าบริหารร่างกาย เพื่อสร้างความกระฉับกระเฉง 9 ท่า ความยาว 4 นาที
- ท่าบริหารร่างกาย เพื่อสร้างความแข็งแรงและกระปรี้กระเปร่า 12 ท่า ความยาว 5 นาที ซึ่งเพลงบรรเลง ชุด “1 2 3 4” เรียบเรียงโดย บอย โกสิยพงษ์ หรือนายชีวิน โกสิยพงษ์ นักร้อง นักแต่งเพลง”
ผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานต่างๆ ที่จะนำท่าออกกำลังกายนี้ไปใช้ในองค์กร สามารถรับชมได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=otf0APB8e30
โดยในงานนี้ นายกรัฐมนตรีได้เขียนข้อความฝากถึงแรงงานไทยทุกคนว่า “แรงงานทุกคนต้องได้รับการพัฒนาในทุกมิติ เพราะรัฐบาลถือว่า แรงงานทุกคนคือทุนมนุษย์ของประเทศ เราต้องพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุขภาพ คุณภาพฝีมือแรงงาน และคุณภาพชีวิต เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”