ผลสำรวจ SME ไทยห่วงกำลังซื้อครึ่งปีหลัง แนะยึด ESG ยกระดับธุรกิจรับแข่งขันสูง

20

SCB EIC เผยผลสำรวจธุรกิจ SME ไทย มองแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าเป็นห่วง หนี้ครัวเรือนฉุดกำลังซื้อ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แนะยึดแนวทาง ESG ดำเนินธุรกิจ

 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการ SME ไทย จำนวน 102 สถานประกอบการ ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ค้าส่งค้าปลีก รับเหมา/วัสดุก่อสร้าง ที่พักแรม ร้านอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อาหารและเครื่องดื่ม พบว่า 71% ของผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และ 33% มีความกังวลปัจจัยด้านกำลังซื้อและหนี้ครัวเรือนมากที่สุด ขณะที่มองว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจะเพิ่มความเชื่อมั่นได้ 22% และการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นได้ 10%

ผลสำรวจ พบด้วยว่า 95% ของ SME ไทย ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตและต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 93% ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดย 77% ของ SME ไทย มีแผนขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน และ 68% มีแผนขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ โดยเห็นว่ากระแส ESG จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจถึง 72%

นอกจากนี้ SME ไทย ยังเผชิญกับสภาวะการแข่งขันรอบด้าน ทั้งจากธุรกิจขนาดใหญ่ SME ด้วยกันเอง และการแข่งขันกับร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านสงครามราคา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์และพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน และรับเหมาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม มี SME ไทย 13% ที่หันมาพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจให้คำปรึกษา และธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

ฐิตา เภกานนท์

“แม้ SME ไทยจะกำลังเผชิญกับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อที่เปราะบาง แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้คาดว่าจะทยอยคลี่คลาย สวนทางกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง อาทิ การถูกตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิต/การดำเนินงานล้าสมัย ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว หาก SME ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน” ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส SCB EICกล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของ SME ต่อจากนี้ ควรมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์และมีคุณภาพสูง รวมถึงการวางแผนธุรกิจให้สอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืน ESG ซึ่งจะขยายโอกาสในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น