“จ้องแดงโบราณ” สร้างชื่อหัตถศิลป์ไทย ดังไกลไปถึงอังกฤษ

290

“ร่มจ้องแดง” อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นเคยมากนัก แต่หลายคนก็อาจจะพอแปลได้ง่ายๆ ว่าร่มสีแดง แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะนี่คือศิลปะโบราณล้านนา ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่ตัวร่มแบบโบราณ ที่นิยมทาผ้าด้วยสีแดงสดและสีแดงเลือดนก ปลายด้ามจับยาว มีทรงที่โค้งคุ่มงอลงมานิดหน่อย ไม่ใช่ทรงกางชี้บานเหมือนกับทรงร่มของบ้านบ่อสร้างหรือที่อื่นๆ

นางอัมพวัน พิชาลัย

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เปิดเผยว่า “ร่มจ้องแดงโบราณ”  นับเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งชิ้นของงานหัตถศิลป์ที่ SACICT สามารถพัฒนาช่างศิลป์และผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดหัตถศิลป์และเกิดการต่อยอดสู่ตลาดการค้าโลกได้สำเร็จ ทำให้งานหัตถกรรมศิลป์ “ร่มจ้องแดงโบราณ” ได้รับยอดการสั่งซื้อเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรก อันเป็นผลจากการมุ่งสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาต่อยอดงานอนุรักษ์หัตถศิลป์โบราณที่หายากและกำลังสูญหายสู่เชิงพาณิชย์  สร้างคุณค่าของงานศิลปหัตกรรมไทยให้คงรักษาสืบทอดรุ่นต่อรุ่นสืบสานยาวนานต่อไป  และการมุ่งเน้นพัฒนาความคิดสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยไปสู่การใช้งานที่ร่วมสมัยในชีวิตประจำวัน (Today Life’s Crafts) ของ SACICT ให้มากขึ้นในปัจจุบัน

 

 

นายวิเชิญ แก้วเอี่ยม

นายวิเชิญ แก้วเอี่ยม ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2561 แห่งบ้านดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่สืบทอดงานหัตถกรรมร่มจ้องแดงโบราณ เอกลักษณ์ของบ้านดอนเปา หนึ่งในภูมิปัญญา  บรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมาแล้ว 6 ช่วงอายุคนนับหลายร้อยปี  ผู้มีทักษะความชำนาญ อยู่กับการทำจ้องโบราณสีแดงนี้มากกว่า 30 ปี  และในปัจจุบัน “ครูวิเชิญ” กลายเป็นกำลังหลักสำคัญที่เหลืออยู่เพียงบ้านเดียวที่ยังคงอนุรักษ์การทำร่มจ้องแดงโบราณให้คงอยู่ในปัจจุบันซึ่งกำลังใกล้จะสูญหายไปจากชุมชนวัฒนธรรมของล้านนา

ครูช่างวิเชิญ บอกว่า “ดีใจมากกับยอดสั่งซื้อร่มจ้องแดงโบราณครั้งนี้ และนับเป็นครั้งแรกที่ได้ยอดสั่งซื้อส่งตรงไปยังประเทศอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ จำนวนมากคราวเดียวถึง 400 คัน ไม่ได้ผ่านตัวแทนหรือหน่วยงานของภาครัฐ จึงต้องค่อยๆ ทยอยทำส่งให้เดือนละ 50 -100 คัน จนกว่าจะครบจำนวน ที่เป็นผลจากการส่งเสริมออกบูทในงานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศและหน่วยงานของรัฐ”

พร้อมบอกอีกว่า การจะทำส่งครั้งเดียวทั้งหมดเลยไม่ได้ เพราะว่าต้องผลิตทำให้กับลูกค้าประจำรายอื่นๆให้อีกด้วย สามารถผลิตร่มจ้องแดงได้เฉลี่ยเดือนหนึ่งแค่ประมาณ 100-120 คัน เนื่องจาก “สล่า” หรือช่างทำร่ม หัวเรือสำคัญหลักของหมู่บ้านมีน้อย ปัจจุบันเหลือเพียง “สล่า” คนรุ่นเก่าหรือผู้สูงวัยอยู่แค่ 8 คนเท่านั้น แต่ก็ชื่นใจที่ลูกหลานได้เข้ามาสืบทอดฝีมือการทำร่มจ้องแดงกันแล้ว และยังมีฝีมือพัฒนาการผลิตร่มแบบใหม่ๆ จากน้ำพักน้ำแรงของลูกหลาน    ที่ไปร่ำเรียนทางด้านศิลปะการวาดรูปกันมา สามารถผลิตร่มจ้องแดงแบบใหม่ที่เพิ่มลวดลายใส่รูปภาพวาดด้านศิลปะต่างๆ เข้าไปเพิ่มคุณค่าบนผืนผ้าร่ม เช่น พระราหู เทพพนม หนุมาน เป็นต้น สร้างความแตกต่างให้ร่มจ้องแดงโดดเด่นไม่ซ้ำแบบกับร่มของบ้านบ่อสร้างและที่อื่นๆ

ครูช่างวิเชิญ กล่าวว่านอกจากเอกลักษณ์ของสีและรูปทรงแล้ว   ยังมีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายเส้นด้ายในโครงร่มที่มีการสานด้วยด้ายหลากสีสันนำมาร้อยสานเลื่อมสลับกันไปมา จึงมีทั้งความสวยงาม และความแข็งแรง สามารถป้องกันฝนและแสงแดดได้อย่างดี สีไม่ตก การทำจ้องแดงต้องใช้ทักษะความชำนาญการทำด้วยมือในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำไม้หัวร่ม ซี่โครงร่ม การหุ้มโครงร่ม ทาสี และสานเส้นด้ายในโครงร่ม จ้องแดงทีได้รับความนิยมมากในปัจจุบันคือ จ้องแดงที่ใช้ตั้งในสนาม หรือใช้ตกแต่งสถานที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม

สำหรับคำว่า “จ้อง” ก็คือ ร่มที่เป็นภาษาพื้นถิ่นล้านนา  ซึ่งในบางครั้งเราอาจเรียกกันในอีกชื่อว่า “ร่มแม่วาง”

อุปสรรคในการผลิตจ้องแดงคือ การจัดหาไม้ลวกไม้ไผ่ ที่เมื่อก่อนต้องไปจัดหาและตัดเองในป่า แต่ขณะนี้แก้ไขได้แล้วโดยการกระจายรายได้รับซื้อจากชาวบ้านแทน และการไปสอนให้คนในหมู่บ้านหลาวไม้ไผ่ตามแบบสำเร็จรูปที่ต้องการนำมาขายให้ ทำให้เกิดความคล่องตัวมากและหาซื้อได้ง่ายขึ้น

ครูช่างวิเชิญยังรับซ่อมร่มจ้องแดงให้อีกด้วย เพราะว่ามีลูกค้าที่ซื้อร่มจ้องแดงไปใช้งานเป็นเวลานานแล้วและเกิดชำรุด จึงมาให้ครูช่างทำซ่อมให้ ครูช่างบอกอีกว่า จากการได้รับทำซ่อมร่มจ้องแดงนี้ จึงทำให้รู้ได้ว่า คุณภาพร่มจ้องแดงที่ผลิตนี้หากเก็บรักษาให้ดีจะเป็นของดี มีคุณภาพ มีอายุใช้งานคงทนนานถึง 10 ปี บางคันนานกลายจนเป็นร่มจ้องแดงรุ่นเก่าของโบราณที่ทรงคุณค่าเก็บรักษาไว้ น่าภูมิใจอย่างมาก

“ครูมีความยินดี พร้อมที่จะถ่ายทอดฝีมือและความรู้ที่มีทั้งหมดให้กับคนนอกผลิตจ้องแดงนี้เพื่อให้ได้สืบทอดต่อไป  มีผู้ที่ให้ความสนใจอยู่บ้าง ได้แก่  คณะพระและสามเณรจากวัดดอยสัพพัญญู แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีใครที่ไม่ใช่ลูกหลานนำไปผลิตเป็นจริงเป็นจัง ถึงแม้ว่าจะหาผู้สืบทอดได้ยาก แต่ส่วนหนึ่งมีความชื่นใจที่ลูกหลานยินดีที่จะสืบทอดมรดกความรู้ชิ้นนี้เอาไว้และทำต่อไปเรื่อยๆ” ครูช่างวิเชิญกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ครูช่างวิเชิญ ในวัย 62 ปี ที่ยังพร้อมจะถ่ายทอดส่งต่อไปให้คนรุ่นหลัง เพื่อหวังรักษางานหัตถกรรมจ้องแดง ภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่สืบทอดมาหลายร้อยปีไม่ให้หมดสูญสิ้นหายไป โดยขาดผู้สืบสาน และเพื่อไม่ทำให้การทำจ้องแดงเหลือเพียงตำนานที่ถูกลืม โดยขอใช้เวลาที่ยังเหลืออยู่เพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เพื่อให้หัตกรรมจ้องแดงคงอยู่คู่ถิ่นล้านนาสืบไป ครูช่างวิเชิญจึงได้รับการเกียรติให้เป็นครูช่างศิลปะหัตกรรมแห่งปี 2561

ได้ยินแล้วน่ายินดีและภาคภูมิใจไปด้วย