“ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป” ชูกลยุทธ์ “BIOTEC” บุกตลาดนวัตกรรมจุลินทรีย์ และสารปรับปรุงดิน

13

ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป” หนึ่งในผู้นำตลาดด้านนวัตกรรมในการเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเกษตร  ชูจุดแข็ง ผลิตภัณฑ์ทุกตัวผ่านการวิจัย และพัฒนา (R&D) ตามหลักมาตรฐานสากล 

นางสาวสิริญาพัทธ์ เทียนรุ่งศรี ประธานกรรมการบริหาร ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป หรือ White Crane BIOTEC Group เปิดเผยว่า ก่อนหน้าจะมาเป็น ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป เราได้เริ่มต้นธุรกิจภายใต้ชื่อ ไว้ท์เครน (วี.88) อะควาเท็ค ด้วยการเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ด้วยประสบการณ์กว่า 50 ปี พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอะควาเรียมช็อป ฟาร์มต้นไม้น้ำ รวมไปถึงการตั้งโรงงานผลิตจุลินทรีย์ อาหารสำหรับสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และอาหารสำหรับปลาสวยงาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 เรายังได้ขยายสินค้าไปยังกลุ่มการเกษตร และปศุสัตว์ รวมถึงการทำฟาร์มออร์แกนิคที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

อย่างไรก็ตามสินค้าทุกชนิดของบริษัทผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ตามหลักมาตรฐานสากลด้วยวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์และต้องเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในทุกมิติ โดยสินค้าของบริษัทได้รับรองจากองค์กรและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมยังผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานการรับรอง GHP ด้วยเช่นกัน

นางสาวสิริญาพัทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากจะเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้าแล้ว เป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจของไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป คือเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้จุลินทรีย์ในระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และจะไม่ทิ้งสารตกค้างลงสู่ธรรมชาติเด็ดขาด

สำหรับการใช้จุลินทรีย์ในระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น นอกจากจะทำให้สัตว์น้ำมีสุขภาพที่ดี มีภูมิในการป้องกันโรคได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังช่วยลดเรื่องกลิ่น ลดของเสีย สะสมหมักหมมที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เลี้ยง ทำให้เกษตรกรสามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนในชุมชน และถือเป็นการบำบัดน้ำในระหว่างการเลี้ยงไปในตัว ทำให้น้ำในบ่อสามารถนำกลับมาใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำต่อได้อีก โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทั้งหมด

บริษัทให้ความสำคัญในการร่วมพัฒนาวิจัย และสนับสนุนงานวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยการควบคุมสารอินทรีย์ ในของเสียสิ่งขับถ่ายจากการเลี้ยงกุ้ง กับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงการใช้ สารปรับปรุงดิน หรือ Pluto Products เม็ดสำหรับปรับดิน และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ร่วมกับโครงการพัฒนาวิชาการดิน ปุ๋ย และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เกษตรกรมากที่สุด

“เราคิดค้นพัฒนาสินค้าแต่ละชนิดให้ง่ายต่อการใช้งานของเกษตรกร และต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเรื่องต้นทุนให้กับผู้เลี้ยง ซึ่งเราได้คัดเลือก และพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สายพันธุ์จุลินทรีย์ แข็งแรง มีมาตรฐานตอบโจทย์สภาพสังคม และเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ด้วยความยั่งยืน ซึ่งตรงกับปณิธานของคุณวงษ์ชาพัทธ์ เทียนรุ่งศรี ประธานผู้ก่อตั้งบริษัท เครือไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป ที่ต้องการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด” นางสาวสิริญาพัทธ์ กล่าว

ด้าน นายศรัณย์ยกร พรชัยฤทธิ์ ประธานบริหารฝ่ายการค้า ไว้ท์เครน ไบโอเทค กรุ๊ป หรือ White Crane BIOTEC Group (WCBG) กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้เรามองว่าความท้าทายสำคัญของเกษตร คือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาวะโลกร้อน ภูมิสภาพอากาศ และโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ ผนวกกับกระแสความนิยมเรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งสารตกค้างสู่ร่างกายของผู้บริโภค และต้องมีระบบการเลี้ยงที่รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เราจึงได้ใช้กลยุทธ์ “BIOTEC” ในการทำตลาดด้วยแนวทางสำคัญ 6 ประเด็น คือ

– B = Biotechnology ย้ำสินค้าทุก SKU จากบริษัทฯ ต้องเป็นสารอินทรีย์เท่านั้นเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

– I = Innovation มีการร่วมกับเครือข่ายทุกเครือ พัฒนานวัตกรรมให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

– O = Optimized ลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองทั้งหมด พัฒนาฝีมือและคุณภาพของบุคลากรภายในให้เพิ่มขึ้น

– T = Teamwork ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ ภาควิชาการอย่างต่อเนื่อง

– E = Environment concerned สินค้าทุกตัว คำนึงถึงโลก และภาวะการเปลี่ยนแปลง WCBG จะเป็นผู้นำด้านสินค้าเกษตรกรรมที่รับผิดชอบต่อโลกและสังคม

– C = Change เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และพัฒนาอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง

“ปัจจุบัน รูปแบบการบริหารจากประสบการณ์ยาวนานกว่า 50 ปีจาก Gen 1 สู่ Gen 2 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท และมุ่งมั่นดันยอดขายให้ทะลุเป้า 300 ล้านบาท ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์ในตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ที่มีขนาดใหญ่กว่า 150,000 ล้านบาท ด้วยการพัฒนาสินค้าที่ให้ความหลากหลายตอบโจทย์การใช้งานของเกษตรกร และผู้เลี้ยงสัตว์ด้วยความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน สิ่งสำคัญคือเราไม่ลืมที่จะช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรรายเล็ก เช่น การลดต้นทุน การคำนวณต้นทุนที่ถูกต้อง การสังเกตผลลัพธ์จากการเลี้ยง ผ่านความคุ้มค่าของการใช้จุลินทรีย์ รวมถึงการให้ความรู้ ความเข้าใจระบบการเลี้ยงแบบปกป้องกันมากกว่าการรักษา รวมถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยของสัตว์ และไม่ลืมสุขภาพอนามัยของเกษตรกรตัวจริงอีกด้วย” นายศรัณย์ยกร กล่าวปิดท้าย