ไทยเตรียมเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) ปี 2576 มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด จากปัจจุบันมี 13 ล้านคน บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ขานรับนโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ลุยขับเคลื่อน 25 มาตรการรับมือสังคมสูงวัย “เสริมพลังวัยทำงาน-เพิ่มคุณภาพเด็ก-สร้างพลังผู้สูงอายุ-เสริมคุณค่าคนพิการ-เพิ่มความมั่นคงครอบครัว”
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม มีมติรับทราบ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ตามที่ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้าน 25 มาตรการ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อรับมือสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย
ปี 2576 ไทยเข้าสู่ Super Aged Society
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ความท้าทายประการหนึ่งของประเทศไทยในขณะนี้ คือการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีความสัมพันธ์กับทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี หรือในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่แนวโน้มการเกิดใหม่ลดลง และวัยแรงงานก็ลดลงเช่นกัน
ที่ผ่านมา รัฐบาลตระหนักถึงความท้าทายและได้ดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหา อาทิ การเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ การลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตร การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทุกกลุ่มวัย ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ฯลฯ และล่าสุด พม. ได้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรขึ้น ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแล้ว ซึ่งทั้ง 25 มาตรการ ภายใต้ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากรนี้ ถือเป็นกรอบการขับเคลื่อนงานที่สำคัญที่ คสช. จะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนจนเกิดเป็นรูปธรรม
ชูนโยบาย 5x5 แก้วิกฤต
น.ส.นภาพร เมฆาผ่องอำไพ ผู้ตรวจราชการ พม. กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เป็นข้อเสนอในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อยในภาพรวมทั้งหมด และถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่นำไปเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD57) ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. – 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนโยบาย 5 ด้าน รวม 25 มาตรการ โดยในปีงบประมาณ 2568 จะใช้เป็นข้อเสนอ “5×5 แก้ปัญหาวิกฤตประชากร” เพราะนอกจากจะมีเรื่องของนโยบายหรือมาตรการเรือธงที่ชัดเจนที่จะดำเนินการในปีนี้แล้ว ยังมีโครงการต่างๆ ที่ พม. ได้ทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน รวมถึงการเชื่อมต่อกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ด้วย
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ ประกอบด้วย 1. เสริมพลังวัยทำงาน ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการได้แก่ 1) พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน บูรณาการฐานข้อมูล 2) กระจายงานสู่ชุมชน 3) ส่งเสริมการออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ 4) ส่งเสริมสุขภาพประชากรในวัยทำงาน 5) ส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว
- เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ด้วยมาตรการได้แก่ 1) ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา 2) ดูแลสุขภาพกายและใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 3) ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านรับเด็กอายุน้อยลง ชุมชนช่วยจัดการ 4) พัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพสอดคล้องกับบริบทสังคม 5) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยมาตรการได้แก่ 1) ป้องกันโรคมากกว่าการรักษา เสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ 2) ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ 3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4) ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจวัตรประจำวัน 5) เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้สูงอายุ
- เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ ด้วยมาตรการได้แก่ 1) เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ 2) เข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน 3) ป้องกันการพิการตั้งแต่กำเนิดและทุกช่วงวัย 4) เสริมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ 5) จัดทำฐานข้อมูลคนพิการเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
- สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยมาตรการได้แก่ 1) พัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ 2) ชุมชนน่าอยู่สำหรับทุกคน 3) บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย เข้าถึงได้ อยู่อย่างปลอดภัย 4) ส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียม 5) ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ส่งเสริม Green Economy
นางนันท์นัดดา ฤทธิ์มนตรี ผู้อำนวยการกองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สป.พม.) กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคนโยบาย ภาควิชาการ รวมถึงภาคท้องถิ่น และประชาชน จนได้ออกมาเป็นมาตรการที่มองไปถึงคนทุกช่วงวัย พร้อมกับมีการระบุเอาไว้ถึงบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่าง ๆ โดยทิศทางของมาตรการทั้งหมดนี้ ยังมีความสอดรับเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่ คสช. ได้มีการหารือร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) หรือเรื่องที่ใหญ่มากในขณะนี้อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นภัยคุกคามกับเด็กและเยาวชนไทย อันเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาหนุนเสริมการทำงานเรื่องเหล่านี้ในภาพรวม
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่าน “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” อาทิ มติ 15.3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางรายได้ของประชาชนในระยะยาว หรือ มติ 16.3 การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่มุ่งพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตร เป็นต้น ซึ่งสอดรับกับทิศทางข้อเสนอเชิงนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร