สธ. เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้ลาสซาในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น แนะผู้ที่จะเดินทางไปแถบแอฟริกาตะวันตกขอให้ระวังตนเองเป็นพิเศษ เน้นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เผยปัจจุบันไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าว
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่มีรายงานข่าวการระบาดของโรคไข้ลาสซา หรือ โรคไข้เลือดออกลาสซาในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกนั้น องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 เม.ย. 61 มีผู้ป่วยที่ยืนยันแล้ว 420 ราย เสียชีวิต 106 ราย ขณะนี้ ยังคงมีการระบาดเฉพาะในประเทศไนจีเรียและไรบีเรียเท่านั้น ยังไม่มีรายงานการระบาดในพื้นที่อื่น
โรคไข้ลาสซา จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับโรคอีโบลา โรคนี้ติดต่อจากการที่คนหายใจเอาละอองของเสีย ที่หนูขับถ่ายออกมา เช่น ปัสสาวะ และอุจจาระ เข้าไป หรือการกินอาหารหรือการใช้ภาชนะที่มี การปนเปื้อนเชื้อ หรือติดเชื้อทางแผล/เยื่อเมือกบุผิว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ อาการของโรค ไข้ลาสซา คือ มีไข้ ไข้จะยังคงมีอยู่ตลอด หรืออาจไข้สูงเป็นระยะ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง เจ็บหน้าอก และปวดบริเวณช่องท้อง อ่อนเพลีย ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่มีการระบาด หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษาทันที ควรรักษาตามอาการ เพราะไม่มียารักษาเฉพาะ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค วิธีป้องกันโรคไข้ลาสซา ได้แก่
- ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นพิเศษ โดยหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ควรล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค
- ดูแลความสะอาดรอบๆ ที่พัก เพื่อควบคุมการกำจัดหนูและสัตว์กัดแทะซึ่งเป็นพาหะนำโรค
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสั่งการให้มีการเตรียมพร้อมที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย สำหรับนักท่องเที่ยวหลังจากกลับจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา แจ้งประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422