ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนและกำลังจะเข้าหน้าฝน เป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งล่าสุด การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ (6-12 พ.ค.2561) โดยกรมควบคุมโรคระบุว่า ช่วงนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น มาดูกันว่า จะป้องกันได้อย่างไร แล้วใครบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ในปี 2561 พบผู้ป่วย 43,753 ราย เสียชีวิต 5 ราย ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ พะเยา กรุงเทพมหานคร ลำพูน และอุตรดิตถ์ จากข้อมูลในปีนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันและสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และในปีนี้ตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน จำนวน 18 เหตุการณ์ โดยเกิดในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร และวัด เป็นต้น
สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่าในช่วงนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ร้อนสลับฝนตก ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้เจ็บป่วยได้ โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ติดต่อจากการไอหรือจามรดกัน หรือผ่านทางสารคัดหลั่งที่ติดจากมือแล้วสัมผัสกับเยื่อบุตาหรือจมูก คลุกคลีกับผู้ป่วย ใช้สิ่งของร่วมกัน ก็อาจแพร่เชื้อได้ ดังนั้น การป้องกันการแพร่เชื้อสามารถทำได้โดยใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีอาการไอหรือจาม ไม่คลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย และล้างมือเป็นประจำ
ส่วนสถานที่ที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ สถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ เป็นต้น ซึ่งควรมีการคัดกรองผู้ป่วย สังเกตอาการ ได้แก่ ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ควรแยกผู้ป่วยทันที ให้รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว หมั่นทำความสะอาดสิ่งของที่มีการใช้ร่วมกันทุกวัน เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มเปิดปิดไฟ-พัดลม และใช้หน้ากากอนามัยปิดปากปิดจมูก
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดภายใน 14 วัน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต เป็นต้น โรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคธาลัสซีเมียไม่รวมพาหะ ผู้มีความผิดปกติทางระบบประสาทรวมทั้งโรคลมชัก ผู้มีอายุน้อยกว่า 18 ปีและได้รับยาแอสไพริน และผู้มีอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือมากกว่า 65 ปี ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสในการนอนโรงพยาบาล โดยขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422