ชีวิตจริงของผู้หญิง จะมีสักกี่คนที่เกิดมาเป็นซิลเดอเรลลาหรือหนูตกถังข้าวสาร เช่นเดียวกับค่านิยมผิด ๆ ของการมีสามีชาวต่างชาติ ที่หลายคนยังคิดว่าเป็นเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งจริงๆ แล้ว ยังมีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องของความแตกต่างของสังคมและวัฒนธรรม ปัญหาทางการเงิน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รุนแรงไปจนถึงปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติ
แม้ภาพที่เราเห็นโดยทั่วไปของคู่รักหญิงไทยกับสามีชาวต่างชาติ คือฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้หญิงไทยส่วนหนึ่งต้องการมีสามีชาวต่างชาติ คู่ที่ไปได้ดีก็ถือว่าดีไป แต่ยังมีคู่ที่ต้องเจอปัญหาอีกมากมาย จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การแต่งงานกับชาวต่างชาติ ไม่ใช่หนทางของความสบายเสมอไป บางครั้งก็อาจจะไม่เหลืออะไร บางกรณีอาจส่งผลถึงชีวิต
เรื่องราวเหล่านี้ เป็นอีกภารกิจหนึ่งของ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยไม่นานมานี้ ได้ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนหินฮาวคุรุประชาสรรค์ บ้านหินฮาว ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น และมีการเสวนา “การพัฒนาบทบาทผู้นำทางสังคมด้านสตรีและครอบครัว” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายศุภชัย คำภู ประธานเครือข่ายกลุ่มอาชีพสตรีบ้านหินฮาว นายอัตรา ขุนทองจันทร์ อัยการจังหวัดผู้ช่วย สำนักงานอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงภูเก็ต นายสราวุธ ศรีพัก นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ ในฐานะเลขานุการศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนห้วยม่วง (ศพค.ห้วยม่วง) อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินรายการและวิทยากรร่วมเสวนา เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือหญิงไทยในต่างประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ /สะท้อนปัญหา ผู้ได้รับผลกระทบจากการเดินทางไปต่างประเทศ
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนหนึ่งที่มีสตรีในชุมชนสมรสกับชาวต่างชาติค่อนข้างมาก ซึ่งชีวิตของผู้หญิงไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติไม่ได้สวยหรูทุกคนเสมอไป ผู้หญิงหลายคนถูกฝ่ายชายใช้การแต่งงานบังหน้า เพื่อให้ง่ายต่อการหลอกพาหญิงไทยเข้าประเทศและบังคับค้าประเวณีในต่างแดน ดังนั้น การเข้าถึงชุมชน จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ สค. ซึ่งรับผิดชอบดูแลในเรื่องการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีทุกกลุ่ม และได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้หญิงที่อยู่ทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด ได้เข้ามาสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะมากับการแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ การที่หญิงไทยเดินทางไปพำนักอยู่ในต่างประเทศ นอกจากจะห่างไกลครอบครัวญาติพี่น้องแล้ว ในกรณีที่ประสบปัญหาและตกทุกข์ได้ยาก อาจจะหาคนให้คำปรึกษาได้อย่างยากลำบาก
“ถึงแม้ว่าชีวิตคู่ทุกคนมีสิทธิเลือกและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากเป็นไปได้ ไม่อยากให้หญิงไทยไปอยู่ที่ไหนที่ห่างไกลบ้านเกิดและครอบครัวของตนเอง แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าหญิงไทยหรือคนไทยจะไปพำนักอยู่ที่ไหน รัฐบาลก็ไม่ทอดทิ้ง โดยในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหญิงไทยมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก เข้าใจถึงสถานการณ์ เป็นที่พึ่งพาเมื่อต้องการความช่วยเหลือ และให้ความรู้สึกอุ่นใจเหมือนอยู่ใกล้บ้านเอาไว้ก่อน ซึ่งสามารถ Download ได้ โดยพิมพ์คำว่า Yingthai ได้ทั้ง 2 ระบบ คือ ระบบ iOS ผ่าน App Store และระบบ Android ผ่าน Play Store และหากใครประสบปัญหาหรือพบเห็นใครประสบปัญหาไม่ว่าในหรือนอกประเทศ สามารถโทรสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
เรื่องราวบนเวทีเสวนา เต็มไปด้วยความน่าสนใจ เพราะมีการสะท้อนปัญหาและความเป็นจริง ให้คนในชุมชนได้เห็นภาพ โดยนายสราวุธ ศรีพัก นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ ในฐานะเลขานุการศูนย์พัฒนาครอบครับชุมชนห้วยม่วง (ศพค.ห้วยม่วง) อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในเขตอำเภอภูผาม่าน มีหญิงไทยที่มีสามีชาวต่างชาติประมาณ 300 คู่ ด้วยค่านิยมที่ส่งต่อกันมาว่า คนที่มีคู่รักชาวต่างชาติ จะมีฐานะดีขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ มีรถใหม่ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยผู้หญิงไทยที่มีคู่รักชาวต่างชาติส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานและหย่ากับสามีชาวไทยแล้ว
ภาพที่แสดงออกมาสู่โลกภายนอก อาจสวนทางกับความเป็นจริง เพราะปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่อยู่กินกับชาวต่างชาติแล้วไม่มีความสุข ต้องเจอกับความทุกข์ทรมานหลายรูปแบบ โดยนายสราวุธ เล่าตัวอย่างหนึ่งว่า มีสามีชาวต่างชาติมาขอแต่งงานกับผู้หญิงไทย มอบสินสอดให้ 1 ล้านบาท จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ผ่านไปราว 1 ปี ครอบครัวของหญิงสาวชาวไทย ต้องขายที่นาเพื่อส่งเงินให้หญิงสาวกลับมาเมืองไทย
รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยและพูดคุยกับหญิงไทยที่มีสามีชาวต่างชาติ พบปัญหาที่หลากหลาย จึงต้องทำความเข้าใจกับคนไทย การแต่งงานกับชาวต่างชาติ ไม่ใช่หนทางที่โปรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป
จากการวิจัยจะพบว่า ชายชาวต่างชาติที่มาสมรสกับหญิงไทยส่วนใหญ่จะมีฐานะกลางๆ เช่นเป็นคนขับแท็กซี่ คนขับรถบรรทุก หรือทำงานที่อยู่ในระดับล่างถึงกลาง แต่การที่มีเงินทองใช้จ่ายนั้นเพียงแต่ว่าอยู่ที่ความแตกต่างในเรื่องค่าของเงินระหว่างประเทศเท่านั้น เพราะเมื่อมาใช้ชีวิตในประเทศไทยก็จะทำให้เหมือนว่ามีชีวิตหรูหรา
สำหรับ คู่รักข้ามวัฒนธรรมเมื่อแต่งงานแล้วไปอยู่ต่างประเทศ จะกลับมาเยี่ยมบ้านในเมืองไทยปีละครั้งนานราว 1-2 เดือน ซึ่งช่วงที่กลับมานั้น จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย แต่จากการพูดคุยกับหญิงไทยบางคนที่มีสามีชาวต่างชาติพบว่า เงินที่นำมาใช้ในเมืองไทยนั้น เป็นเงินที่หยิบยืมมา ประมาณ 2 แสนบาท เพื่อแสดงให้ครอบครัวและคนในชุมชนเห็นว่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบาย ข้าวของเครื่องใช้ของบางคน อย่างกระเป๋าหรูๆ ก็สามารถเช่ามาถืออวดฐานะได้
“เขาพูดได้โดยไม่อายว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ มีตัวอย่างหญิงไทยที่ไปอยู่เยอรมัน ไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง เพราะอาศัยในรถบ้าน จอดค้างแรมและอาบน้ำในสวนธารณะ ไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิด เมื่อสามีมาเมืองไทย ก็จะเอาแต่นอนในห้องแอร์ไม่ออกไปไหน”
นอกจากนั้นหลายคนยังเจอปัญหาหนัก ตัวอย่างจากหญิงไทยคนหนึ่ง แต่งงานแล้วไปอยู่กับสามีที่สวีเดน โดยไม่รู้ว่าสามีเป็นคนขี้หึงและหวาดระแวง กลัวผู้หญิงจะหนีไป จึงเก็บหลักฐานต่างๆ ไว้ โดยไม่ให้ไปไหน ฝ่ายหญิงยอมทนเป็นเวลานาน ก่อนจะออกอุบายเพื่อชวนสามีไปพักค้างแรมในโรงแรมที่อยู่ใกล้กับสถานทูตไทย จากนั้นก็รอจังหวะวิ่งเข้าไปขอความช่วยเหลือ จนได้ส่งตัวกลับมาเมืองไทย
อีกกรณีหนึ่งคือ หญิงไทยกับสามีชาวฝรั่งเศส ที่ฝ่ายหญิงต้องฟ้องหย่า เนื่องจากห้ามฝ่ายหญิงเข้าห้องน้ำในเมื่อออกนอกบ้าน เนื่องจากการเข้าห้องน้ำนอกบ้านส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสต้องมีค่าใช้จ่าย ทำให้ฝ่ายหญิงต้องเจอปัญหาด้านสุขภาพ
สำหรับบางคู่ที่แต่งงานแล้วอยู่ในเมืองไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะมีหลายกรณีที่สามีชาวต่างชาติ แต่งงานแล้วหนีกลับประเทศไป ในทางกลับกัน สามีชาวต่างชาติที่มาแต่งงานกับหญิงไทย ก็เจอปัญหาแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มาจากค่านิยมว่า แต่งงานกับต่างชาติแล้วต้องรวย ชีวิตความเป็นอยู่ต้องดีขึ้น ทำให้เกิดการเบียดเบียนทางการเงินมากเกินไป
นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้อยู่ในการดูแลของ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งได้นำผลวิจัยของ รศ.ดร.ดุษฎี มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาในการหาแนวทางในการแก้ปัญหา จึงเป็นที่มาของ คลินิกสะไภ้ไทยเขยฝรั่ง “พหุวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นคลินิกให้คำปรึกษากับหญิงไทยและชายต่างชาติ ทั้งก่อนการแต่งงาน สิ่งที่ควรรู้ต่างๆ และขั้นตอนการดำเนินการ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ ที่คอยให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้วย โดยกลุ่มหญิงไทยที่ในเครือข่าย จะเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านในเมืองไทย และจัดอบรมและให้คำปรึกษากับหญิงไทยที่คิดจะมีคู่เป็นชาวต่างชาติและคนในชุมชนบ้านเกิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
การมีสามีชาวต่างชาติ มีแง่มุมให้เห็นทั้งสองด้าน ครอบครัวและชุมชน อาจจะต้องปรับทัศนคติกันใหม่ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของกันและกัน ทางฝ่ายคนไทยเอง ก็ไม่ควรเข้าไปเรียกร้องหรือเอาแต่ได้มากจนเกินไป เพราะแท้จริงแล้ว ความสุขของชีวิตคู่ คือการถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแลกันไป หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติแล้วส่วนใหญ่ก็ยังต้องทำงาน
ทั้งนี้ต้องระวังคนใกล้ชิดกันดีๆ เพราะช่องทางหนึ่งที่ทำให้สาวไทยถูกหลอกไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ ก็คือหญิงไทยกันเอง และนั้นอาจจะเป็นหนทางการหลอกลวงสู่การค้าประเวณีได้ ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนจงมีสติ