สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผุดโครงการนำร่องร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และจัดทำจังหวัดต้นแบบพัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำผลประกอบการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ลดช.) กล่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มี 4 พันธกิจหลัก คือ
- กำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
- ส่งเสริมการบูรณาการทุกภาคส่วน
- วางรากฐานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
- ส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เครื่องมือสำคัญควบคู่กับการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกิจ ต้องมีการนำร่องในการดำเนินการ เพื่อให้ทราบบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปัญหา อุปสรรคเพื่อหาแนวทางแก้ไขในการนำไปกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สามารถปฏิบัติได้จริง
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจดีสังคมก็จะดี หรือสังคมดีเศรษฐกิจก็จะดี โดยในช่วง 6เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเร่งเดินหน้าดำเนินการนำร่องพัฒนาประเทศด้วยดิจิทัลร่วมกับภาครัฐ เอกชน ในการดำเนินงานในหลายมิติ โดยมีโครงการที่สำคัญ ดังนี้
ดิจิทัลด้านโครงสร้างพื้นฐาน
มีการดำเนินการทั้งที่เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ในการโครงการ “Phuket Smart City ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ” โดยดำเนินการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะ,พื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งการให้บริการ Free Wi-Fi 1,000 จุด, ให้บริการข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทาง Mobile Application และ Digital Signage โดยหน่วยงาน องค์กรภาคธุรกิจ ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตสามารถแจ้งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงบูรณาการจัดเก็บข้อมูล BigData เพื่อการบริหารเมือง เป็นต้น
อีกทั้งยังมีโครงการที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้ทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือโครงการ Smart Sign On เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะผ่านระบบตรวจสอบสิทธิทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการต่างๆของภาครัฐอย่างเท่าเทียม โดยจัดให้มีระบบตรวจสอบสิทธิ (Smart Sign On) ในการเข้าใช้งานบริการFree Wi-Fi ส่วนกลาง ซึ่งผู้ใช้บริการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้บริการ Free Wi-Fi ผ่านชื่อ @THWi-Fi ได้ทุกผู้ให้บริการ (ISP)ที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ด้วย Username และ Password เดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนแล้วจำนวน 248,613 และเข้าใช้บริการ (LogIn) แล้ว จำนวนมากกว่า 2,775,108 ครั้ง
ดิจิทัลด้านสังคม
สังคมที่ดีถือเป็นการลดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของประเทศ สดช.จึงร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินโครงการ “ป้องกัน Cyber Bullying ลดปัญหาการคุกคามและกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” โดยทาง สดช.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ,ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในการสร้างเครือข่ายและเชื่อมประสานความร่วมมือ เพื่อต่อต้านปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ ผ่านกิจกรรมต่างๆโดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา Cyber Bullying ร่วมกัน
ที่ผ่านมาได้จัดงานประชุมสัมมนา “สานพลังป้องกัน Cyber Bullying” เพื่อรวบรวมสถานการณ์และความคิดเห็นในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับสังคมดิจิทัล และปีนี้เป็นปีแห่งการเรียนรู้และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เน้นแนวทางในการปฏิบัติซึ่งมีการดำเนินการร่วมกันแล้ว เช่น ร่วมกับ บริษัท โทเทิลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ผนึกกำลังเป็นพันธมิตรภาคี ร่วมโครงการ “Stop Bullying เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน” ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ให้ความรู้ในการรับมือกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ผ่านรายการบ่ายนี้มีคำตอบ และมีแผนที่จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนสานต่อให้ประชาชนอยู่กับสังคมดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน โดยดำเนินการตลอดปี 61
ดิจิทัลด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ทาง สดช.ยังได้ดำเนินการจัดทำ “โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กิจกรรม Village E-Commerce (ศึกษาและพัฒนา Village E-Commerce)” ซึ่งเป็นโครงการการพัฒนาต้นแบบหมู่บ้านชุมชนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Village E-commerce เพื่อทำให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการในชุมชนให้มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการทำการค้าบนโลกออนไลน์ ผ่านการจัดการอบรมบุคลากรของของศูนย์ดิจิทัลชุมชนจากทั่วประเทศเพื่อสร้างวิทยากรแกนนำ ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน ให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโอกาสในการซื้อขายสินค้าและการรับรู้เรื่องราวของสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ในชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทย เมื่อโครงการสิ้นสุดลง เราได้
– ผลิตวิทยากร E-Commerce ชุมชน จำนวน 643 คน
– ผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 6,285 คน
– ร้านค้าชุมชน Online จำนว 4,578 ร้านค้า
– มูลค่าการขาย 216 ล้านบาท (216,752,654)
– รูปแบบธุรกิจสำหรับศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 3 รูปแบบ
ต้นแบบในการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
สดช.ตระหนักถึงการนำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง จึงได้จัดทำ “ราชบุรีโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องทดสอบการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพประชาชนทั้งภาคเอกชน,อุตสาหกรรมและภาคราชการ ให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล โดยประชาชนจะได้รับความรู้,ความเข้าใจ และความเท่าทันเทคโนโลยี รวมถึงจริยธรรมดิจิทัล ตลอดจนการสร้างรายได้และขยายตลาดอีคอมเมิร์ซ ทั้งในและต่างประเทศในธุรกิจนำร่อง e-service ๕ ด้าน ทั้งด้านการเกษตรดิจิทัล เศรษฐกิจชุมชน การศึกษา สุขภาพ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพทางด้านดิจิทัลของจังหวัด ช่วยให้เกิดการกระตุ้นการสร้างผลผลิต นวัตกรรมและคุณค่าที่ดีให้กับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความต้องการของพื้นที่ในการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในการนำร่องในจังหวัดราชบุรี โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนในการดำเนินการร่วมกันบรรลุผลตามความต้องการของพื้นที่และเป็นต้นแบบจังหวัดที่พัฒนาศักยภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
“สดช.เป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่นำแนวนโยบาย ของกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งทุกโครงการที่กล่าวมาล้วนเป็นประโยชน์ จะช่วยพัฒนาประเทศ อำนวยความสะดวก พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับทั้งสังคมและเศรษฐกิจประเทศสู่เป้าหมาย ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ในที่สุด” นางวรรณพรฯ กล่าวทิ้งท้าย