โรงแรมห้าดาว มุ่งเปลี่ยนวิถีจากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ เสิร์ฟสิ่งดีๆ สู้ลูกค้าและสังคม

135

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีผลดีทั้งตัวผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น จากเกษตรกรผู้หันมาให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่อย่างโรงแรม ซึ่งมีอัตราการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในปริมาณมาก ซึ่งวันนี้ หลายโรงแรมก็หันมาเลือกใช้เกษตรอินทรีย์ เพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า เรื่องเหล่านี้ จะมีการขยายผลต่อไป ภายใต้ความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักของคนในสังคมที่ขยายตัวในวงกว้าง

สนุกกับการเก็บผลผลิตในแปลง-เบบี้แครอท

ล่าสุด มีกิจกรรม Organic Tourism ที่ดำเนินการโดย แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.  โดยได้พาทีมผู้บริหารโรงแรมดังระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯ สำรวจต้นทางการผลิตวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล โดยมุ่งหวังว่าโรงแรมจะส่งต่อความรู้กระตุ้นให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าออร์แกนิก และการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ที่ไม่เพียงดีต่อสุขภาพคนกินคนปลูก แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น และเกิดผลดีตลอดห่วงโซ่อาหาร

ศึกษาการเลี้ยงหมูหลุมแบบธรรมชาติ

นายอรุษ นวราช ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) องค์กรขับเคลื่อน Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์สู่ระบบอาหารสมดุล ซึ่งดำเนินการมากว่า 7 เดือน  เปิดเผยความคืบหน้าโครงการนี้ว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากผู้ประกอบธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร ชื่อดังกว่า 20 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมขับเคลื่อน รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ อย่าง ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล และโรงแรม เดอะ สุโกศล ซึ่งเป็นโรงแรมชื่อดังระดับห้าดาวในกรุงเทพฯ ที่แต่ละปีมีลูกค้า และนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางโครงการฯ ได้นำผู้บริหารโรงแรม เจ้าหน้าที่ระดับบริหารส่วนต่างๆ รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้อง ของทั้ง 2 โรงแรม ไปรู้จักเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล เรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากลและระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems PGS)

เกษตรกรพาชมสวนฝรั่งอินทรีย์

คุณชูเลง โก ผู้จัดการทั่วไป ดิ แอทธินี โฮเทลฯ  ให้เหตุผลที่เข้าร่วมขับเคลื่อน Organic Tourism  ว่าโรงแรมมีนโยบายในการนำเสนออาหารออร์แกนิกให้กับลูกค้ามาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ  ซึ่งทางโรงแรมสนใจที่หาวิธีการซื้อผัก ผลไม้อินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรงในราคาเหมาะสม เพื่อนำไปบริการแก่ลูกค้า และการพาเจ้าเหน้าที่ระดับบริหารทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปเจอเกษตรกรก็เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงกระบวนการผลิต การแปรรูป และได้สัมผัสถึงความเหนื่อยยาก ความมุ่งมั่น ของเกษตรกรที่ต้องการผลิตอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคทำให้เกิดความเชื่อมั่นใจสามารถนำความรู้กลับไปถ่ายทอด และสื่อสารต่อลูกค้าได้อย่างมั่นใจ และมีความภูมิใจ อีกทั้งยังช่วยให้เชฟเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ บริการลูกค้า

คุณชูเลง โก ผู้บริหาร ดิ แอทธินี

สำหรับ ดิ แอทธินี โฮเทล ฯ มีการลงพื้นที่มาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับบริหารทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เชฟจากทุกครัว ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายอบรม ฝ่ายการเงิน และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไปเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ไปรู้จักกับเกษตรกรต้นแบบ ตามกลุ่มต่างๆ อาทิ ศึกษาการทำสวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ปลูกผัก ปลูกอ้อย ทำนา เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ แปรรูปผลิตภัณฑ์  ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ดูการทำสวนฝรั่งอินทรีย์ ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บางช้าง ใน จ.นครปฐม  ไปเรียนรู้การปลูกผัก และผลไม้อินทรีย์  ที่ไร่รวงข้าวภูตะวัน และ สัมผัสวิถีการเลี้ยงหมูหลุม ที่ฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ ใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ มีหมูกว่า 800 ตัว  โดยจุดเด่นคือ เลี้ยงแบบธรรมชาติโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค

ทดลองดำนาในพื้นที่นาจริง

และอีกจุดที่ทุกคนได้เยี่ยมชม คือ ตลาดสุขใจ ซึ่งเป็นตลาดทางเลือกของคนรักสุขภาพ จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ประเภทข้าว ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด ของเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 8 ปี  มีร้านค้ากว่า 60 ร้าน จุดเด่นของตลาดแห่งนี้นอกจาก เกษตรกรปลูกเองขายเองยังเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมคนกินได้พบกับคนปลูกเพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดีแก่กัน

ทว่า สิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่นอกจากความรู้ติดตัวกลับไป หลายคนยังเก็บความประทับใจบางสิ่งที่ได้สัมผัสกลับไปด้วย เพื่อเป็นแรงบันดาลส่งต่อคุณค่าออร์แกนิก โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตของเกษตรกร ผู้มีความมุ่งมั่นเปลี่ยนวิถีจากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ อย่าง คุณอรุณี พุทธรักษา หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ที่หันมาเกษตรอินทรีย์ เพราะแม่ป่วยจากการใช้ยาฆ่าแมลง ครอบครัวเป็นหนี้ ธกส. จากการใช้ปุ๋ยเคมี หรือคุณประหยัด ปานเจริญ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง จ.นครปฐม ที่หักดิบเคมีมาทำสวนผลไม้อินทรีย์ ขณะที่หนี้สินท่วมตัว ต้องเอาที่ดินไปจำนอง เพราะสามีโดนสารเคมีเล่นงานจนต้องตัดปอดทิ้ง แต่หลังจากพบสามพรานโมเดลทำให้มีความรู้ มีตลาด จนสามารถปลดหนี้ได้ และได้ที่ดินคืน

ป้าลำพึง ศรีสาหร่าย ให้ความรู้การทำแปลงผัก

Organic Tourism หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นการขับเคลื่อนทางสังคม ที่ริเริ่ม โดย ดร.อุดม หงส์ชาติกุล และอรุษ นวราช ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เป้าหมายเพื่อสร้างระบบอาหารสมดุลและยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร หรือ เกษตรกร และทุกภาคส่วนที่อยู่บน ห่วงโซ่อาหาร สามารถเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ระบบอาหารสมดุล รายละเอียดเพิ่มเติมตามได้ที่ organictourismthailand.com โทร. 034 -225-203