คร.เตือน ไข้สูงเฉียบพลันอาจเป็นไข้เลือดออก  ย้ำอย่าซื้อยากินเอง

101

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค  สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –16  พฤษภาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 10,446 ราย และเสียชีวิต 15 ราย  ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ (วันที่ 20 – 26 พ.ค. 61) คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้

ในปี 2561 นี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 74,000–75,000 ราย และคาดว่าจะมีอัตราป่วยตายสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอายุผู้ป่วยจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อายุระหว่าง 15–24 ปี  ในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนนี้ กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรค โดยจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ได้มากที่สุด โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

  1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ในคราวเดียวกัน คือ

  1. โรคไข้เลือดออก
  2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
  3. ไข้ปวดข้อยุงลาย

หากประชาชนมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ให้เช็ดตัวลดไข้ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้  หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”