ใครที่มีผู้สูงอายุภายในบ้าน หรือคุ้นเคยกับญาตผู้ใหญ่ที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ คงทราบดีว่า นี่อาจจะจะเป็นลักษณะหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่มักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่หากเป็นแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เพราะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือ นำพาตัวเองไปสู่อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากหลายๆ ด้าน และท้ายสุดก็จะต้องเป็นภาระในการดูแลของคนใกล้ชิด ดังนั้นการสังเกตอาการภาวะสมองเสื่อมและเข้ารับการรักษาก่อนที่มีความรุนแรงขึ้นก็จะน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า
นายแพทย์สมชาย โตวณะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิทางประสาทวิทยา โรงพยาบาลธนบุรี 2 ให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้อัตราการเกิด อัตราการตายที่ลดลง และอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นของคนไทย ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในระยะเวลาอันสั้น เมื่อบุคคลก้าวเข้าสู่ภาวะสูงวัย ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมลงตามธรรมชาติ ผู้สูงอายุจึงจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพ และโรคสมองเสื่อม เป็นโรคหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ซึ่งภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุแต่โดยปกติแล้วเซลล์สมองจะมีโอกาสเสื่อมลงเรื่อยๆช้าๆ และจะมีอาการเด่นชัดขึ้นในวัยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยคือ โรคอัลไซเมอร์ รองมาเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง ,ไขมันสูง , โรคเบาหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้สาเหตุภาวะสมองเสื่อมจากหลายปัจจัย เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ การขาดวิตามินบี การได้รับสารพิษที่เข้าไปทำลายเซลล์สมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การติดเชื้อจำพวก ซิฟิลิส หรือ HIV และภาวะสมองเสื่อมในโพรงสมองใหญ่ เป็นต้น
สำหรับอาการเตือนที่บ่งบอกภาวะสมองเสื่อม ประกอบด้วย
- สูญเสียความจำโดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
- ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยไม่ได้เหมือนเดิม
- มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำศัพท์ง่ายๆใช้ศัพท์ผิดความหมาย
- สับสนวันเวลาและสถานที่
- สูญเสียการตัดสินใจ
- มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เช่น บวกลบคูณหารไม่ได้เหมือนก่อน
- วางของผิดที่แบบแปลกๆ
- อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
- บุคลิกภาพเปลี่ยนไป
- ชอบเก็บตัว สูญเสียความคิดริเริ่ม
อาการเตือนเหล่านี้หากทิ้งไว้อาจลุกลามเป็นโรคสมองเสื่อมได้ โดยแพทย์ต้องอาศัยการตรวจร่างกายตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ และการทำแบบทดสอบภาวะการจำ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดทั่วไป เพื่อคัดแยกโรคต่างๆที่มีผลต่อความจำ โดยแพทย์อาจทำการตรวจปัญหาที่เกิดขึ้นในสมอง โดยการถ่ายภาพสมอง CT Scanหรือ MRI
ในส่วนการดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการ จะแบ่งตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น การรักษามีทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามอาการและตามความเหมาะสม รวมทั้งการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์มีส่วนประกอบจากผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อปลา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม หากต้องการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม การทดสอบภาวะการจำ การหาปัจจัยเสี่ยงและแนวทางป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.ธนบุรี 2 เวลา 8.00 – 20.00น.