อย.ยันอาหารในไทยไม่เสี่ยงไขมันทรานส์ เตือนโฆษณาให้ถูก

34

เปิดชุดความรู้ “ความจริงไขมันทรานส์” อย.ยันผลิตภัณฑ์อาหารในไทยไม่เสี่ยงไขมันทรานส์ เหตุทำความเข้าใจผู้ประกอบการปรับสูตรล่วงหน้า แนะข้อความติดฉลากและแสดงปริมาณไขมันทรานส์-ไขมันอิ่มตัวให้ชัด เตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสโฆษณาปลอดไขมันทรานส์ 0% ขณะที่ไขมันอิ่มตัวยังสูง

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดแถลงข่าว “ความจริงไขมันทรานส์”

นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ อย. ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการล่วงหน้า และปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำมันและไขมันเป็นส่วนประกอบได้ปรับสูตรโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่ เช่น เค้ก พาย คุกกี้ อาหารทอดแบบน้ำมันท่วม ครีมเทียม จึงพบไขมันทรานส์ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจบางส่วนซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์

สิ่งที่ อย.ต้องจับตาและเฝ้าระวังหลังจากที่ประกาศ ฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือ การเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด และอาจมีการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ในการโฆษณากล่าวอ้าง “ปราศจากไขมันทรานส์” หรือ “ไขมันทรานส์ 0%” บนผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสับสนและเข้าใจว่าปลอดไขมันทรานส์ ขณะที่ไขมันอิ่มตัวยังสูงอยู่ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภค จึงให้ใช้ข้อความ “ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภค รวมถึงแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในฉลากโภชนาการแบบเต็มเท่านั้น โดยแสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์การปัดตัวเลขเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว ในกรณีที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท

รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่สถาบันสุ่มสำรวจการปนเปื้อนไขมันทรานส์ในผลิตอาหารจำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือ 0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค ส่วนไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค พบว่า 53% พบไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์และประมาณ 13% พบไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ สรุปว่าพบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว สะท้อนว่าการได้รับไขมันทรานส์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยน้อยกว่าความเสี่ยงในการได้รับไขมันอิ่มตัว อีกทั้ง ไขมันทรานส์จะพบในอาหารประเภทเบเกอรี่เป็นหลัก สิ่งที่น่ากังวลคือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการระบุหน้าซองว่าไขมันทรานส์ 0% เกรงว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นบริโภคได้มาก ไม่มีไขมันทรานส์ แต่ที่จริงยังมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไขมันทรานส์ และเกิดความตื่นตระหนกในการบริโภค สสส.จึงร่วมกับ อย. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำสื่อความรู้ที่เข้าใจง่ายและถูกต้องทางวิชาการเรื่อง “ความจริงไขมันทรานส์” เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของเนยขาว เนยเทียม เป็นส่วนประกอบผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการได้ปรับสูตรและกระบวนการผลิตของเนยขาวและเนยเทียมที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แล้ว

สำหรับกรณีน้ำมันทอดซ้ำก็มิใช่เป็นแหล่งไขมันทรานส์ แต่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง รวมถึงคำแนะนำในการกินไขมันที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยต้องบริโภคไขมันไม่เกิน 2-3 ช้อนชาต่อมื้ออาหาร ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซด์ สสส.และ อย. นอกจากนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำการรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคไขมันของประชาชนไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการ งานนวัตกรรม และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวังปริมาณไขมันทราน์และการกล่าวอ้างทางด้านโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาด หลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

นพ.ฆนัท ครุฑกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค มาตรการห้ามใช้ไขมันทรานส์จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคในสังคมไทย เพราะไขมันทรานส์หากรับประทานในปริมาณมากเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันและหลอดเลือด จึงไม่ควรมีไขมันทรานส์จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมในอาหาร อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง จากวัฒนธรรมการรับประทานของทอด จึงควรจำกัดปริมาณการบริโภคไขมัน เน้นอาหารต้ม นึ่ง เมนูผัดไม่ควรใช้ความร้อนสูง

ดูข้อมูลความจริงไขมันทรานส์ ได้ที่ www.thaihealth.or.th