“โอทอปไลฟ์สไตล์” แหล่งช้อปแห่งใหม่ของนักเดินทาง

341

เมื่อพูดถึงศูนย์โอทอปหรือ ศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จะนึกถึงห้องแถวหรืออาคารมีจั่วทรงไทยที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก้อนโตให้แต่ละจังหวัดสร้างขึ้นเพื่อหวังเป็นแหล่งกระจายสินค้าชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันผลิตขึ้นมาวางขายให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ผ่านไปไม่กี่ปีไม่รู้เหตุและผลใดศูนย์ฯดังกล่าวหลายแห่งถูกละเลยปล่อยทิ้ง ร้าง ไม่สามารถทำกำไรหรือชื่อเสียงให้ใครได้เลย

ปัจจุบันศูนย์โอทอปได้มีการพัฒนารูปแบบและสินค้าที่วางจำหน่ายให้ดูดีมีรสนิยมมากขึ้นโดยมีชื่อใหม่ว่า” โอทอปไลฟ์สไตล์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่เกิดจากความร่วมมือของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยและภาคเอกชน โดยเมื่อเร็วๆนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความสำเร็จการบริหารจัดการศูนย์โอทอปไลฟ์สไตล์ของโอทอปเทรดเดอร์ จังหวัดกาญจนบุรี
นายกิจจา กาญจนะวีระ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการพัฒนาสู่  “ ความมั่นคง  มั่งคั่ง  และยั่งยืน”  ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิด  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไกประชารัฐ  และการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย  4.0  กรมการพัฒนาชุมขนในฐานะเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนโครงการ  หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  หรือ โอทอป ดำเนินงานภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมธุระกิจฐานรากให้ขยายตัวด้วย  3  กลยุทธ์ คือ การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ชุมชน ด้วยองค์การความรู้และนวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าโอทอป สู่สากล จนก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย อาทิโอทอป ขึ้นเครื่อง โอทอปแบรนด์เนม  โอทอปเทรดเดอร์ และ โอทอปไลฟ์สไตล์  เป็นต้น

“ โอทอปไลฟ์สไตล์” เป็นการปรับเปลี่ยนศูนย์โอทอปแบบเก่าให้มีความทันสมัยขึ้นโดยนำแนวคิดมาจาก  “ไลฟ์สไตล์คาเฟ่” ในญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันที่รวมเอาสินค้าหลายประเภทไว้รวมกันในร้านเดียว  ทั้งแฟชั่น  เครื่องแต่งกาย  ของใช้ในชีวิตประจำวันเฟอร์นิเจอร์  อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การชอปปิ้งของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างเมื่อไทยนำมาใช้ ภายใต้ชื่อ โอทอปไลฟ์สไตล์  จึงเป็นร้านขายสินค้า โอทอปรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคปัจจุบัน   ภายในอาจมีร้านขายกาแฟ  ร้านขนม  สินค้าที่ระลึกและผลิตภัณฑ์โอทอปอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงมุมนั่งเล่น พร้อมมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตจให้บริการฟรี ซึ่งความหลากหลายแปลกใหม่จะให้ลูกค้าพอใจ”นายกิจจา กล่าว

นายกิจจา กล่าวอีกว่าสำหรับต้นแบบ โอทอปไลฟ์สไตล์ขณะนี้มีด้วยกันสองแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ  และสะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงสินค้าโอทอปจากทั่วประเทศ  ภายใต้แนวคิด ตั้งรับในเชิงรุก โดย ตั้งรับ หมายถึง ตั้งอยู่พื้นทีของตนเอง ส่วน รุก หมายถึง การรุกเข้าหาลูกค้า โดยจะเป็นการนำสินค้าโอทอปจากทั่วประเทศเข้าหาลูกค้าผ่านโอทอปเทรดเดอร์ภาคเอกชน  ซึ่งจะเป็นผู้กระจายสินค้าโอทอปไปยังศูนย์โอทอปไลฟ์สไตล์  โดยสินค้านั้นๆ จะต้องผ่านการรับรอง จากกรมพัฒนาชุมชน  ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้าโอทอปทั่วประเทศ

ด้านนายสหัสนัย ยืนยงค์ ภาคเอกชน ในฐานะประธานเทรดเดอร์ โอทอป จ.กาญจบุรี กล่าวว่าสำหรับผู้ประกอบการถือว่ามีความพร้อมอยู่แล้วในการลงทุนแต่ยังขาดทิศทางเมื่อมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและมีช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปได้อย่างยั่งยืน ตัวเองในฐานะเทรดเดอร์จังหวัดกาญจนบุรีและอยู่กับโอทอปมานานถึง 12 ปี รู้อยู่แล้วว่าการออกร้านในแต่ละครั้งมีค่าใข้จ่าย ขายได้ไม่คุ้ม บางรายขายของไม่ได้เกิดความท้อจึงได้มาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เครือข่ายสามารถขายสินค้าโอทอปได้อย่างยั่งยืน โดยคัดเฉพาะสินค้าระดับ 1-3 ดาว มาตกแต่งใหม่ ติดสลาก ติดบาร์โค้ดนำมาขายใน 4 ช่องทางคือ ขายในพื้นที่ ในอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี  และขายให้กับเพื่อนๆที่เป็นเทรดเดอร์ด้วยกัน

นายสหัสนัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พฤติกรรมกลุ่มคนซื้อในอำเภอศรีสวัสดิ์พบว่าผู้ซื้อส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวหญิงและเด็กมากกว่าผู้ชาย เข้ามาในร้านเลือกๆซื้อแล้วก็ไป แต่ถ้ามีพื้นที่หรือมุมพักผ่อนสบายๆจะทำให้อยู่ในร้านได้นานขึ้นจึงเป็นที่มาของ “ศูนย์โอทอปไลฟ์สไตล์” เป็นการปรับเปลี่ยนศูนย์โอทอปเดิมให้มีความทันสมัยขึ้น ภายในศูนย์ฯ จัดร้านแบ่งเป็นมุมๆ ประกอบด้วย มุม กาแฟ เบอเกอรี่  อาหารปรุงสำเร็จรวดเร็ว  มุมผักออร์แกรนิค ผักปลอดสาร พืชผักตามฤดูกาล  สินค้าของผู้ประกอบการเครือข่ายโอทอปทั่วประเทศที่ผ่านการรับรองจากกรมพัฒนาชุมชนแล้ว นอกจากนี้ยังมีมุมพักผ่อนสบายๆพร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตฟรีให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเล่นอีกด้วย

นายสหัสนัย กล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานในฐานะเทรดเดอร์จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากการพัฒนาเป็นศูนย์โอทอปไลฟ์สไตล์แล้วยังมีแนวคิดจัดตั้ง 1 แหล่งท่องเที่ยว 1ศูนย์โอทอป ให้แต่ละจังหวัดมีศูนย์ลักษณะนี้อย่างน้อยจังหวัดละ 5 ศูนย์โดยจะเปิดขายเฟรนด์ไซส์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการลงทุนแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ได้เป็นเจ้าของกิจการ โดยทางทีมงานจะเข้าไปดูแลให้ทุกเรื่องทั้งรูปแบบการจัดศูนย์ การจัดส่งสินค้า รวมถึงการบริหารการขายต่างๆ นอกจากนี้จะช่วยทำตลาดในลักษณะขายตรงให้กับในกลุ่มโรงแรม สนามกอล์ฟ รีสอร์ท โรงพยาบาลซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีความต้องการใช้สูงและจำนวนมากรวมถึงการเปิดร้านค้าออนไลน์ให้ผู้ประกอบการเครือข่ายสามารถขายสินค้าได้ตลอดเวลา ซึ่งได้ทำข้อตกลงกับไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศในการจัดส่งสินค้าราคาประหยัด นอกจากนี้ผู้ประกอบการเฟรนไซส์ก็สามารถเข้าออนไลน์ซื้อสินค้าในราคาทุนไปขายในศูนย์ได้

โอทอปไลฟ์สไตล์ทั้งสองแห่งของจังหวัดกาญจนบุรี  ถือเป็นตัวอย่างของโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนรูปลักษณ์โอทอปแบบเดิมๆเป็นร้านกาแฟผสานความหลากหลายของสินค้าโอทอปที่ดูทันสมัยเข้ากับยุคไทยแลนด์ 4.0