บ้านเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งน่ากังวัลมีอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของโรคภัยของคนสูงวัย หนึ่งในนั้น คือ “พาร์กินสัน” ซึ่งเป็นโรคทางสมองที่พบได้เป็นอันดับสองรองจาก “อัลไซเมอร์” พบมากในผู้สูงอายุเฉลี่ยอายุ 60-65 ปี ซึ่งเดิมทีมีการตรวจวิเคราะห์ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเท่านั้น
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปี สำหรับในประเทศไทยมีการเก็บรวบรวมสถิติการเกิดโรค จากสภากาชาดไทยพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งพบมากในประชากรแถบภาคกลางของประเทศ คนไทยสมัยโบราณรู้จักโรคพาร์กินสันมานานแล้วในนามของ ‘โรคสันนิบาตลูกนก’ แต่ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันคนไทยตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น ผู้ป่วยจึงได้มาพบแพทย์เร็วขึ้นทำให้ได้รับการดูแลแต่เนิ่น ๆ
แพทย์หญิงอรพร สิทธิ์บูรณะ ผู้เชี่ยวชาญโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ความรู้ว่า อาการที่สังเกตได้จากโรคนี้ ได้แก่ การเคลื่อนไหวช้า อาการสั่นของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในท่าพักแต่ดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว และอาการเกร็ง ซึ่งสัมพันธ์กับเซลล์สมองที่ถูกทำลายไปแล้วอย่างน้อยร้อยละ 60 ความผิดปกติที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นผลจากการตายของเซลล์สมองส่วนก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) ในส่วนสับสแตนเชียไนกราซึ่งมีผลทำให้สารสื่อประสาทโดพามีนซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของร่างกายลดลง ทั้งนี้ การตายของเซลล์สมองในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้มีการดำเนินมาแล้วอย่างน้อย 4-10 ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว
อาการที่น่าสงสัยของโรคพาร์กินสัน
- สั่น
- การเคลื่อนไหวช้า
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- การทรงตัวไม่ดี เสียงค่อยและเบาลง
- สีหน้าไร้อารมณ์
- หลังค่อม ตัวงุ้มลง
- ความสามารถในการได้กลิ่นลดลง
- ท้องผูก
- ตะโกนร้อง หรือมีการขยับแขนขาอย่างรุนแรงในขณะหลับ
- เขียนตัวหนังสือเล็กลง
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการข้างต้นร่วมกันหลายประการ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจรักษา แต่นับว่าเป็นข่าวดีมาก ที่ตอนนี้นักวิจัยไทยได้ค้นพบนวัตกรรมสำหรับการตรวจโรคนี้แล้ว โดยเป็นหนึ่งในผลงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการแพทย์ ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย เมื่อวันที่ 18-20 ก.ค.61 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การนำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการแพทย์ภายในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสารสู่สาธารณะ รวมถึงโอกาสของการนำสู่ระดับนโยบาย ตลอดจนการนำเสนอโมเดลของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปี ข้างหน้าจากผลงานวิจัยจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย เพื่อรองรับการปฏิรูปด้านสุขภาพของประเทศในอนาคต
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาเครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรองและติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า “พาร์กินสัน” เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากกว่าร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจรักษา โดยมีการตรวจประเมินทางคลินิกร่วมกับการใช้แบบประเมินอาการที่เรียกว่า Unified Parkinson’s Disease Rating Scale (UPDRS) ที่ใช้ได้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น ทำให้ UPDRS ถูกจำกัดใช้อยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งยังพบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากการให้คะแนนที่ไม่ตรงกันของผู้ประเมินอีกด้วย
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า โรคพาร์กินสันนั้นมีอาการสั่นที่จำเพาะ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจวัดและวิเคราะห์อาการสั่นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันขึ้น ประกอบด้วยชุดสัญญาณการเคลื่อนไหวที่สามารถบันทึก วิเคราะห์ แสดงผลสัญญาณในเชิงเวลา ความถี่การสั่น และค่าการสั่นในแกนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
อุปกรณ์ดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะที่ใช้งานได้ง่ายทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไปที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลาการตรวจที่สั้น เสร็จภายใน 10 นาที และมีความปลอดภัยกับผู้ใช้ สามารถถ่ายโอนผลข้อมูลจากการวัดไปยังระบบจัดเก็บได้ง่าย
สำหรับผลจากการทดสอบเครื่องมือฯ พบว่า สามารถใช้ประเมินลักษณะอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยแพทย์ผู้ทำการรักษาประเมินว่าอาการสั่นของผู้ป่วยนั้นมีความเป็นไปได้ของโรคพาร์กินสันนั้นมากน้อยเท่าไหร่ และยังใช้ประเมินอาการทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับแบบประเมินมาตรฐาน UPDRS ได้อีกด้วย ช่วยลดความคลาดเคลื่อนของการให้คะแนน โดยการตรวจวัดให้ผลถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น และไม่ทำให้หลงทางในการรักษา ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรในชื่อ “ระบบคัดแยกโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติจากอาการสั่น”
นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของวงการแพทย์ไทย เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งพวกท่านเหล่านั้นล้วนเป็นดังร่มโพธิ์ร่มไทยอันเป็นที่รักของคนในครอบครัว