แอร์บัสคาดการณ์ตลาดภาคการบริการทั่วโลกสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ว่าจะมีมูลค่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2580 การวิเคราะห์ครั้งใหม่นี้นั้นมีฐานมาจากการแบ่งตลาดเป็นสามส่วนได้แก่ การมุ่งเน้นทางเครื่องบิน การปฏิบัติการของสายการบินและประสบการณ์ของผู้โดยสาร
การบริการที่มุ่งเน้นไปถึงวงจรชีวิตของเครื่องบินนั้นเป็นตลาดส่วนที่เติบโตมากที่สุด และรวมถึงการบำรุงรักษา การบริการแหล่งอะไหล่ เครื่องมือ การฝึกอบรมด้านเทคนิค และการยกระดับระบบต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะทำให้เครื่องบินของสายการบินนั้นยังทำการบินได้ โดยตลาดส่วนนี้มีมูลค่ารวมถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 20 ปี โดยมูลค่าตั้งแต่ 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน พ.ศ. 2561 ไปจนมากกว่า 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีภายในปี พ.ศ. 2580
การบริการเหล่านี้นั้นมีขึ้นตลอดช่วงวงจรอายุของเครื่องบินตั้งแต่ การออกแบบจนถึงการถอดแยกชิ้นส่วน โดยในหมวดนี้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจะนำเสนอบริการหลักๆ ให้แก่ลูกค้าซึ่งมาพร้อมกับเครื่องบิน ยกตัวอย่างเช่น การมีตัวแทนที่ได้รับมอบหมายที่หน้างานและศูนย์บริการโทรศัพท์สำหรับกรณีที่เครื่องไม่สามารถทำการบินได้
ตลาดที่ใหญ่ที่สุดเมื่อนับโดยมูลค่านั้นก็คือการบำรุงรักษา ซึ่งมีการให้บริการโดยหน่วยงานภายนอก และสัญญาที่คิดราคาเป็นชั่วโมงมากขึ้น นอกจากนั้นเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุใหม่ๆ เช่นการซ่อมบำรุงวัสดุคอมโพสิท แอร์บัสยังมองเห็นแนวโน้มที่แข็งแกร่งของการให้บริการโดยหน่วยงานภายนอกมากขึ้น สัญญาแบบคิดราคาเป็นชั่วโมงนั้นทำให้สายการบินสามารถประกันและคาดการณ์ต้นทุนการบำรุงรักษาได้ ทำให้สายการบินสามารถไปมุ่งในธุรกิจหลักคือการทำการบิน แอร์บัสยังคงเห็นว่าสายการบินมีการเพิ่มการบริการโดยหน่วยงานภายนอกสำหรับการจัดการอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงการใช้แหล่งสำรองอะไหล่ร่วมกัน แทนที่จะมาลงทุนในคลังของตน
ตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นหมวดถัดไปนั้นคือการบริการด้านการปฏิบัติการบิน เช่น การฝึกอบรมนักบินและโซลูชันส์ด้านการวางแผนการบิน ซึ่งจะมีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปี ฝูงบินทั่วโลกนั้นคาดว่าจะขยายมากกว่าเท่าตัวไปเป็น 48,000 ลำในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ดังนั้นแล้วแอร์บัสคาดการณ์ความต้องการนักบินใหม่ 540,000 คนในอีก 20 ปีข้างหน้าซึ่งแนวโนมนี้มีความต้องการใช้แนวทางใหม่ๆ ที่ชาญฉลาดในการฝึกอบรมโดยเทคโนโลยีดิจิตอล
ส่วนที่สามของตลาดการบริการทั่วโลกนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ประสบการณ์ของผู้โดยสารซึ่งจะมีมูลค่าราวเก้าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 20 ปีต่อจากนี้ โดยตลาดส่วนนี้นั้นจะรวมถึงบริการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงห้องโดยสาร การฝึกอบรมลูกเรือ ระบบความบันเทิงบนเที่ยวบิน การเชื่อมต่อสื่อสารและการสำรองที่นั่ง โดยตลาดส่วนนี้คาดว่าจะขยายมากกว่าเท่าตัวในช่วง 20 ปีข้างหน้าและเติบโตจาก 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเกือบ 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแนวโน้มที่น่าสนใจคือการเชื่อมต่อที่ราบลื่นนั้นจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นนั้นจัดการเที่ยวบินผ่านอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ โดยจะนำเสนอข้อมูลที่ทันท่วงทีเกี่ยวกับสนามบิน การเชื่อมต่อเที่ยวบิน การรับกระเป๋า ฯลฯ
ความมุ่งมั่นในตลาดบริการของแอร์บัส – รายได้หนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐและสร้างมูลค่าของลูกค้า
หลังจากการเติบโตของรายได้ภาคบริการถึงร้อยละ 18 ในแต่ละปีในช่วงสองปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นของแอร์บัสนั้นคือจะเพิ่มรายได้ภาคบริการเป็นสามเท่าจาก 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกทศวรรษข้างหน้า เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายนี้แอร์บัสนั้นจะยังคงพัฒนาการบริการองค์รวมตลอดวงจรอายุของเครื่องบินสำหรับผู้ปฏิบัติการเครื่องบินแอร์บัสทั้งหมด นอกจากนั้นบริการองค์รวมเหล่านี้เช่น ไฟลท์ อาวร์ เซอร์วิสเซส (FHS) จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านแหล่งข้อมูลเปิดสกายไวส์ (Skywise)
แอร์บัสยังคงจะขยายบริการที่นำเสนอในปัจจุบัน ไปยังบริการที่ไม่ใช่กับแค่แอร์บัส เนื่องจากฝูงบินแอร์บัสถึงร้อยละ 62 นั้นดำเนินการโดยผู้ปฏิบัติการที่ใช้เครื่องบินจากหลายผู้ผลิต ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้คือ แซทแอร์ บริษัทลูกด้านการบริหารวัสดุของแอร์บัส ซึ่งมีรายได้ร้อยละ 25 มาจากอะไหล่ที่ไม่ใช่ของแอร์บัส ในขณะที่ แนฟบลู บริษัทลูกด้านการปฏิบัติการบินนั้นก็ให้บริการฝูงบินจากหลายผู้ผลิต นอกเหนือจากนั้นแอร์บัสจะขยายบริการไปยังฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น เช่น การปฏิบัติการสนามบินและการควบคุมการจราจรทางอากาศ ท้ายสุดแอร์บัสจะทำให้ตำแหน่งด้านกลยุทธ์ในสายมูลค่านั้นแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นอีกแง่หนึ่งที่มองเห็นได้ในการเติบโตด้านการบริการของแอร์บัส พร้อมกับการมีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ เช่น ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น แอร์บัสได้พัฒนาการบริการทั่วโลกไปยัง 65 จุดทั่วโลกรวมถึง ศูนย์ฝึกอบรม 17 แห่ง
หนึ่งสิ่งหลักที่เหมือนกันในทุกๆ การบริการที่แอร์บัสนั้นสร้างขึ้นมาคือความเป็นดิจิตอล โดยมีโซลูชั่นหลายอันที่มีการเชื่อมโยงและบูรณาการกัน โซลูชั่นเหล่านี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสายการบิน ผู้ให้เช่าและบริษัทบริการซ่อมบำรุง ยกตัวอย่างเช่น สามารถให้การตัดสินใจได้ทันท่วงที หรือการปรับระดับการบินและการบำรุงรักษาให้ดีที่สุดผ่านการวิเคราห์ข้อมูล
เกี่ยวกับแอร์บัส
แอร์บัสเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเกี่ยวกับอากาศยาน อวกาศ และการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปี 2560 แอร์บัสมีรายได้ 59 พันล้านยูโร ที่แถลงใหม่สำหรับ IFRS 15 และมีการจ้างงานราว 129,000 คน แอร์บัสมีเครื่องบินโดยสารที่ครอบคลุมมากที่สุดตั้งแต่ 100 ไปจนถึงกว่า 600 ที่นั่ง แอร์บัสยังเป็นบริษัทผู้นำในยุโรปที่ให้บริการเรือบรรทุกน้ำมัน เครื่องบินต่อสู้ เครื่องบินขนส่งและปฏิบัติภารกิจ รวมถึงบริษัทเกี่ยวกับอวกาศอันดับหนึ่งของยุโรปและธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในส่วนของเฮลิคอปเตอร์ แอร์บัสยังให้บริการโซลูชั่นด้านอากาศยานปีกหมุนทางทหารและพลเรือนมีประสิทธิภาพมากที่สุดไปทั่วโลก