สังเกต 3 อาการหลักเด็กออทิสซึม เผยไทยพบอุปกรณ์วินิจฉัยแล้ว

52

ภาวะออทิสซึม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีเด็กประมาณ 3.7 แสนคนที่มีภาวะดังกล่าว แต่เข้าถึงการรักษาอยู่เพียง 15% ดังนั้น การที่สามารถตรวจประเมินอาการตั้งแต่เริ่มต้นได้ ก็จะช่วยให้แนวทางการรักษาเริ่มต้นได้ไวขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างพัฒนาการที่ดีขึ้นของเด็กที่ป่วยด้วยภาวะนี้

จากบทความของ บทความของ นายแพทย์จอม ชุมช่วย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตเขต 13 กรมสุขภาพจิต อธิบายไว้ว่า ออทิสซึม เป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง แสดงออกทางพัฒนาการทางสังคม การสื่อสาร และพฤติกรรมเบี่ยงเบนหรือผิดปกติ ความผิดปกติดังกล่าวต้องแสดงออกให้เห็นชัดเจนก่อนอายุ 3 ปี

โดยทั่วไปออทิสซึม มีความผิดปกติ 3 ด้านหลัก กล่าวคือ

  1. พัฒนาการทางสังคมผิดปกติ โดยเด็กมักแสดงออกโดย ชอบเล่นคนเดียว เล่นโดยไม่สนใจคนอื่น เด็กไม่สนใจชี้ชวนให้คนรอบข้างมาเล่นหรือสนใจร่วมกับตน เด็กไม่สบตา แต่มองแบบทะลุทะลวงหรือไร้อารมณ์ เด็กมักไม่ยินดียินร้าย ไม่ใยดีกับคำชม ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เด็กไม่สนใจที่จะเลียนแบบ และขาดการเล่นทีมีจินตนาการ เด็กบางรายที่อาการดีขึ้นอาจสนใจที่จะเล่นร่วมกับคนอื่นบ้าง แต่มักชอบที่จะเล่นกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่มากกว่า เพราะผู้ใหญ่หรือเด็กโตมักเป็นฝ่ายปรับเข้าหาเด็กออทิสซึมนั้นๆ บางรายอาจเล่นกับเด็กวัยเดียวกันได้ แต่เด็กออทิสซึมมักจะเป็นผู้นำการเล่นโดยไม่สนใจที่จะแบ่งปันบทบาทกับเพื่อน หรือรู้จักผลัดกันเล่น หรือเล่นตามกฎกติกาที่ควรเป็น เด็กออทิสซึมมักถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดหรือเป็นเด็กที่เล่นด้วยไม่สนุก และมักเข้าไปที่ไหนวงแตกที่นั่น นอกจากนี้เด็กออทิสซึมมักไม่สนใจที่จะผูกมิตรหรือรักษามิตรสัมพันธ์นั้นๆ ไว้
  2. พัฒนาการทางการสื่อสารผิดปกติ โดยส่วนใหญ่เด็กมักจะมาด้วยอาการพูดช้า หรือพูดไม่สมวัย เด็กบางรายใช้ภาษาผิดไวยากรณ์ เด็กอาจใช้โทนเสียงผิดปกติ บางคนพูดเสียงสูงหรือเสียงแหลมตลอด บางคนพูดเสียงทุ้มหรือยานคางตลอด เด็กบางรายพูดภาษาตนเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ บางคนชอบพูดทวน เช่น มีคนถามว่านี่ ” อะไร ” เด็กจะตอบว่า ” นี่อะไร ” เด็กบางรายมีพัฒนาการทางการสื่อสารดีขึ้น พูดได้เป็นประโยค เล่าเรื่องได้ แต่ก็ไม่รู้จักสนทนา กล่าวคือ เด็กมักจะพูดแต่เรื่องของตนเอง ไม่สนใจที่จะรับฟังเรื่องของคนอื่น
  3. มีพฤติกรรมซ้ำๆ ความสนใจจำกัด และเปลี่ยนแปลงยาก เด็กออทิสซึมมักมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เขย่งเท้า หมุนตัว สะบัดมือ เด็กบางรายชอบเอามืออุดหูเวลามีเสียงดังๆ เด็กมักมีความสนใจจำกัด เช่น บางรายชอบและจำโลโก้สินค้า บางรายชอบมองพัดลม ชอบมองของหมุนๆ บางรายชอบเอาของมาเรียงๆ บางรายที่มีพัฒนาการด้านต่างดีขึ้น อาจแสดงความสนใจที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องราวขึ้น แต่ก็ยังสนใจเฉพาะเรื่อง เช่น บางรายสนใจเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ไดโนเสาร์ วัดวาอาราม หรือวรรณคดีบางเรื่อง เช่น รามเกียรติ เป็นต้น เด็กเปลี่ยนแปลงยาก โดยตัวทำอะไรมักชอบทำตามกิจวัตรเดิม หากเปลี่ยนแปลงเด็กอาจแสดงท่าทีหงุดหงิดหรือกรีดร้องได้
นพ.สมัย ศิริทองถาวร

ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย กล่าวถึงภาวะออทิสซึมว่า หากเด็กได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยภาวะออทิสซึม ต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลานานในการตรวจวินิจฉัยโดยการสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ระบบการรักษาช้า และบางส่วนหายไปจากระบบการติดตามประเมินจึงขาดความต่อเนื่องในการรักษา

นพ.สมัย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้พัฒนาเครื่องมือประเมินเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มต้นของเด็กไทย โดยนำผลในการประเมินทางพฤติกรรมด้านการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเล่น และพฤติกรรมซ้ำๆ กับผลการสังเกตุของผู้ปกครองด้านพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก มาใช้ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งทำให้การวินิจฉัยแม่นยำ และรวดเร็วขึ้น ส่งผลดีเพื่อการบำบัดรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

ปัจจุบันเครื่องมือนี้สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมือในระบบคัดกรองพัฒนาการเด็กของกระทรวงสาธารณสุข และผ่านการทดสอบประสิทธิผลในการนำไปใช้ในพื้นที่จริง เทียบเคียงได้กับเครื่องมือในระดับนานาชาติ โดยมีราคาถูกกว่าเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นลิขสิทธิ์ของประเทศไทยจึงสามารถขยายผล และบุคลากรทางด้านจิตเวชเด็กสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ติดเงื่อนไขลิขสิทธิ์ทางปัญญา

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส. สู่ระบบสุขภาพไทยในอนาคต” เมื่อไม่นานมานี้