คปภ. นำระบบประกันภัยบริการถึงประตูบ้านประชาชน

48

คปภ. นำระบบประกันภัยบริการถึงประตูบ้านประชาชน ผ่านโครงการ คปภ.เพื่อชุมชน ปีที่2 ประเดิมลงพื้นที่ “ชุมชนบ้านกู่กาสิงห์” จังหวัดร้อยเอ็ด ประกาศร่วมกับชุมชนชู “กู่กาสิงห์อินชัวรันส์โมเดล” รณรงค์ทำประกันภัยภาคบังคับ(พ.ร.บ.) รถจักรยานยนต์ 100% ก่อนขยายผลไปยังชุมชนทั่วประเทศ พร้อมนำร่องให้ความรู้ประกันภัยแนวใหม่ จากกรณีศึกษาเหตุการณ์จริงในพื้นที่

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะนำระบบประกันภัยไปสู่ประตูบ้านของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ คปภ.เพื่อชุมชน โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม  ในขณะเดียวกันสำนักงาน คปภ.ก็จะมีเวทีเคลื่อนที่ผ่านโครงการนี้เพื่อแนะนำภารกิจและบทบาทหน้าที่ รวมถึงช่องทางการเข้าถึงบริการต่างๆของสำนักงาน คปภ. อันจะสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ

ดังนั้น สำนักงาน คปภ.จึงได้จัด “โครงการ คปภ.เพื่อชุมชน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยแก่ชุมชน โดยคัดเลือกชุมชนที่มีวัฒนธรรมของตนเองที่เป็นเอกลักษณ์ มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีข้อมูลด้านเศรษฐกิจและภูมิสังคม รวมทั้งข้อมูลความต้องการด้านประกันภัยของชุมชน โดยปีนี้ได้มีการลงพื้นที่ชุมชนที่คัดเลือกในภาคต่างๆ รวมทั้งสิ้น 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด ชุมชนท่าสะท้อน จังหวัดชุมพร ชุมชนโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ชุมชนบ้านทุ่งเกวียน จังหวัดลำปาง และชุมชนบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย

โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ตนได้นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมภาคธุรกิจประกันภัย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ที่ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการลงพื้นที่ตาม “โครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 2” โดยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีรายได้หลักคือขายข้าวหอมมะลิ ทอผ้าไหม และรับจ้างไถนา (มีรถแทรกเตอร์ไถนามากที่สุด) และเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียง อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เกิดจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีกิจกรรมการเรียนรู้ไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ลอกเลียนแบบใคร มีฐานการเรียนรู้ 6 ฐาน ได้แก่ ฐานโบราณสถานขอม ฐานผ้าไหมพื้นบ้าน ฐานสวนเกษตรแบบพอเพียง ฐานพิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญา ฐานวรรณกรรมชาวบ้าน และฐานการฟื้นฟูการตัดลายกระดาษพื้นบ้าน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับชาวชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ ในโอกาสนี้สำนักงาน คปภ. ได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ชุมชนภายใต้หัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. อาทิ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ดร.อายุศรี คำบรรลือ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และนายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เป็นผู้ดำเนินรายการ

สำหรับรูปแบบการให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ได้นำร่องให้ความรู้จากการถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเข้าใจถึงบทบาทของระบบประกันภัยที่เข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยง พร้อมเปิดเวทีไขข้อข้องใจและแนะนำในประเด็นต่างๆ เช่น กรณีการทำประกันภัยข้าวนาปี กรณีรถแทรกเตอร์ไถนา สามารถทำประกันภัยในรูปแบบใด เนื่องจากภายในชุมชนมีรถแทรกเตอร์ไถนาเป็นจำนวนมาก กรณีที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ซึ่งในโอกาสนี้ได้ประกาศเจตนารมณ์ “กู่กาสิงห์ อินชัวรันส์โมเดล” ร่วมกับผู้นำชุมชนฯนำร่องการรณรงค์ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) รถจักรยานยนต์ 100% ภายในชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆทั่วประเทศในลักษณะการขับเคลื่อนรณรงค์จากฐานรากไปสู่ส่วนบน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ มี ดร.อำคา แสงงาม ประธานชมรมการท่องเที่ยวบ้านกู่กาสิงห์ และคุณจันทร์ทิพย์ นาสุข ผู้นำชุมชนบ้านกู่กาสิงห์ ได้พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน รวมทั้งเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานโบราณสถานขอม ฐานผ้าไหมพื้นบ้าน ฐานสวนเกษตรแบบพอเพียง ฐานพิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญา ฐานวรรณกรรมชาวบ้าน และฐานการฟื้นฟูการตัดลายกระดาษพื้นบ้าน

นอกจากการประกันภัยข้าวนาปีในจังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว เห็นว่าการประกันภัยอีกประเภทหนึ่งที่ควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กระจายอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น คือ การประกันภัยรถยนต์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ซึ่งจากข้อมูลของจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า รถยนต์ 162,002 คัน มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. จำนวน 109,537 คัน คิดเป็นร้อยละ 67.61รถจักรยานยนต์ 235,240 คัน มีการทำประกันภัย พ.ร.บ. จำนวน 88,183 คัน คิดเป็นร้อยละ 37.49 จะเห็นได้ว่าจังหวัดร้อยเอ็ดมีการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับอยู่ในระดับที่น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน คปภ.จะเร่งให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ด และในพื้นที่ทั่วประเทศได้เห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการทำประกันภัยรถภาคบังคับต่อไป