ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ คุยกับ อธิบดี ผส. รับมืออย่างไร เมื่อสังคมสูงวัยครองเมือง

129

ในปี พ.ศ. 2513 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 1 คนต่อคนวัยทำงาน 10 คน หากไม่รวมเด็กและวัยรุ่น ขณะนั้น ประชากรผู้สูงอายุก็ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 10%  มาในปี พ.ศ.2557  สัดส่วนผู้สูงอายุ เหลือเพียง 1 คน ต่อวัยทำงาน 4 คน แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เติบโตขึ้นทุกปี

ผู้สูงอายุในที่นี้ คือ ประชากรที่มีอายุ 60-65 ปีขึ้นไป จากการคาดการณ์ประชากรไทย ระบุว่า ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นหมายความว่า จะมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ 20% จากประชากรทั้งประเทศ

ข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้คาดการณ์ต่อว่า ในอีก 25 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุ จะลดเหลือ 1 คน ต่อวัยทำงาน 2 คนเท่านั้น

นวัตกรรมทางการแพทย์ ความรู้ในการดูแลตัวเอง และการวางแผนชีวิตที่ดี ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น นั่นอาจแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีของประเทศไทย และเป็นเรื่องที่น่าดีใจของลูกหลาน เพราะโดยปกติ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ดี หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ เรื่องราวเหล่านี้ จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งปัจจุบันมี นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

Balancemag ได้เข้าร่วมงานมหกรรม Thailand Social Expo 2018 วันที่ 3-5 ส.ค. นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยงานนี้ได้รวบรวมความน่าสนใจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งบูธ “เมืองปันสุข”  ของ ผส. ที่จำลองเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมาไว้ให้ได้ศึกษา พร้อมมีท่านอธิบดีมาร่วมพูดคุยถึงประเด็นของผู้สูงอายุในปัจจุบัน

ไอเดียในเมืองปันสุข ที่แสดงให้เห็นว่า วัดก็ควรมีลิฟท์

แนะนำคอนเซ็ปต์ของเมืองปันสุข

“ในส่วนของกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรานำเสนอเรื่องของเมืองที่เป็นมิตรของผู้สูงอายุ การทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ซึ่งชุมชนมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือครอบครัว เรามีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้สูงอายุในระดับตำบล ซึ่งเราก็นำมานำเสนอผลงานของตำบลที่ประสบความสำเร็จ ในครั้งนี้ด้วย”

การออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ

หนุนโมเดลปันสุขของคนสูงวัย

“เราตั้งชื่อ เมืองปันสุข 4.0 ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานนี้  โดยฝันว่าจะมีเมืองแบบนี้ให้ทั่วประเทศ ผู้สูงอายุ จะมีความสุขเมื่อได้เข้ามาที่นี่ นวัตกรรม เด่นๆ ก็นำมาจัดแสดง อย่างตอนนี้เน้นไปที่คนติดเตียง ก็จะมีนวัตกรรมการยกตัว ปกติแล้วในการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียง เราต้องช่วยกันหามเพื่อให้ลุกขึ้นมาหรือเพื่อเข้าห้องน้ำ ปัจจุบันมีวิธีสอดที่นั่งไปที่ตัวและยกขึ้น นำขึ้นวีลแชร์ หรือ เตียงนอน ซึ่งต้องไม่สูงจนเกินไป การออกแบบก๊อกน้ำก็ต้องให้ต่ำลง เดี๋ยวนี้บางท่านก้มตัวไม่ได้ก็มีที่ใส่กางเกง ห้องน้ำจะมีแยกพื้นที่เปียกและแห้ง”

สังคมที่ดีของผู้สูงอายุเป็นอย่างไร

“บ้าน วัด โรงเรียน มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข เพราะฉะนั้นในการทำกิจกรรมต่างๆ เราพยายามให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม อย่างการจำลองชุมชนที่ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม เราสมมติขึ้นว่า  โซนนี้คือ เมืองๆ หนึ่ง เรียกว่า เมืองผู้สูงอายุ 4.0 เราพยายามนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้ามีใครได้เข้ามาดูบูธของกรมกิจการผู้สูงอายุ จะเห็นได้เลยว่าสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เลย เราได้จำลองโรงเรียนผู้สูงอายุ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ตลาด ชุมชน พื้นที่สร้างสรรค์ และไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมได้”

ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระอีกต่อไป

“เรามองหาแนวทางว่า ทำอย่างไรให้สูงอายุพึ่งตนเองได้ จึงมีการส่งเสริมเรื่องอาชีพ เพราะวันนี้ ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพลัง และเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องให้โอกาสท่าน เพราะท่านเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุถึง ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุจะไม่เป็นภาระ ท่านจะเป็นพลังของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ จะมาช่วยให้ผู้สูงอายุ ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”

โมเดลจำลอง ไอเดียการออกแบบบ้านเพื่อคนทั้งมวล ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

นโยบายการดูแลผู้สูงอายุจากภาครัฐ

“ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน ทางรัฐบาลเปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เรานำทะเบียนเหล่านี้ มาพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ ว่า ผู้สูงอายุเหล่านี้อาจจะขาดโอกาส และไม่ได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ก็จะมีเบี้ยให้ เพื่อให้ดำรงชีวิตได้

ประการที่สองอยากให้ผู้สูงอายุอยู่กับครอบครัว ถ้าบ้านที่อยู่อาศัยไม่สมบูรณ์ ทางกรมฯ ก็ไปปรับที่อยู่อาศัย เพราะจากสถิติผู้สูงอายุ เกิดอุบัติเหตุในบ้านค่อนข้างมาก ตอนนี้เรานำเสนอเรื่องบ้านมาตรฐานสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มีราวจับ หรือมีส้วมนั่งที่ไม่ใช่นั่งยอง

โดยเฉพาะปัจจุบันมีผู้สูงอายุประเภทติดเตียงที่มีอยู่แสนกว่าคน เราพยายามทำให้ผู้สูงอายุติดเตียงน้อยลง ในวันนี้เรานำเสนอ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพที่เขาทำงานประสบความสำเร็จมานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างว่า ให้มีพื้นที่ดีดีที่ผู้สูงอายุสามารถมาทำงานร่วมกัน เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ

จากเดิมอยู่แต่บ้าน ให้ออกมาจากบ้าน ให้มีกิจกรรมและ เมื่อมีกิจกรรมแล้วยังสร้างอาชีพได้ ปัจจุบันผู้สูงอายุ หลายๆ ท่านมีอาชีพของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน”

ความหวัง-ความสุขของคนสูงวัย

“ปัจจุบันมีผู้สูงอายุอยู่เกือบสองแสนคน เราพยายามส่งเสริมนักบริบาลชุมชนให้เข้าไปดูแล เราอยากให้ผู้สูงอายุ อยู่กับบ้าน อยู่กับชุมชน อยู่กับครอบครัว ไม่อยากให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์ ประการสำคัญ คือ การส่งเสริมให้คนทุกวัยดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี  เพื่อเติบโตเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต เรื่องสุขภาพไม่ใช่มาทำตอนเท้าย ต้องดูแลทุกช่วงอายุ”

เกี่ยวกับ ผส.

กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการ และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ โดยการเสนอนโยบาย การพัฒนางานวิชาการด้านมาตรการ กลไก องค์ความรู้ และนวัตกรรมในการปฏิบัติงาน การส่งเสริมและสนับสนุนในเชิงวิชาการและการปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชมรมผู้สูงอายุเป็นแกนหลักในการดำเนินงานในรูปแบบ “หุ้นส่วนในงานพัฒนาด้านผู้สูงอายุ” ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ และศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านผู้สูงอายุในกำกับเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้และพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (ศูนย์ต้นแบบ) เพื่อความมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ